ทดสอบครั้งแรกสำเร็จ อากาศยาน 437 Vanguard จาก Northrop Grumman
อากาศยานโมเดล 437 ชื่อแวนการ์ด (Vanguard) และจดทะเบียนด้วยรหัส N437VN ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินครั้งแรก อากาศยานลำนี้ร่วมพัฒนาโดยบริษัทออกแบบอากาศยานอย่าง สเกล คอมโพสิตส์ (Scaled Composites) และบริษัทเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอย่าง นอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) การทดสอบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2024 ที่ท่าอากาศยานและอวกาศโมฮาวี (Mojave Air and Space Port) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
แนวคิดเกี่ยวกับโมเดล 437 แวนการ์ดเปิดเผยครั้งแรกในปี 2021 โดยจะเป็นอากาศยานไร้คนขับที่มีความสามารถสูง ตั้งเป้าปฏิบัติภารกิจในตำแหน่ง โลยัล วิงแมน (Loyal Wingman) หรือมีเป้าหมายคอยช่วยเหลืออากาศยานที่มีคนขับในภารกิจต่าง ๆ โดยมีพิสัยการบินประมาณ 5,600 กิโลเมตร บรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 1,800 กิโลกรัม ความเร็วประมาณ 0.8 มัค หรือประมาณ 980 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้สร้างอากาศยานลำจริงออกมาแล้ว กลับเปลี่ยนให้เป็นอากาศยานที่มีคนขับ เพิ่มความคล่องตัวให้กับศักยภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น
อากาศยานลำนี้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ แพรตต์แอนด์วิตนีย์ 535 (Pratt & Whitney 535) จำนวน 1 เครื่อง ให้แรงขับประมาณ 3,400 ปอนด์ หรือประมาณ 15,100 นิวตัน ในด้านการออกแบบ มีปีกที่ทำมุมไปด้านหลังยาวด้านละ 12.5 เมตร บริเวณโคนปีกที่ติดกับลำอากาศยานมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนหางมีลักษณะเป็นตัว V น้ำหนักบินขึ้นรวม 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 4,500 กิโลกรัม ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับบทบาทในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เช่น ขีปนาวุธ AIM-120 AMRAAM หรือเรดาร์มองด้านข้าง เป็นต้น
Scaled Composites กล่าวว่าในการออกแบบ ประดิษฐ์ และทดสอบ มีกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นจบจบ เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทางอากาศพลศาสตร์และโครงสร้าง การสร้างลำตัวและส่วนต่อขยาย การรวมระบบ และการดำเนินการทดสอบภาคพื้นดินและการบิน
เดวิด เซนซิออตติ (David Cenciotti) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เกี่ยวกับอากาศยานทางการทหารอย่าง ดิ เอวิเอชันนิส (The Aviationist) กล่าวว่า เที่ยวบินแรกของแวนการ์ดถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้ง Scaled Composites และ Northrop Grumman โดยถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการด้านการบิน เมื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอากาศยานจะทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ความพยายามร่วมกันนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางสำหรับโครงการอากาศยานในอนาคต
ที่มาข้อมูล TheAviationist
ที่มารูปภาพ Youtube