รีเซต

โควิดลากยาวฉุดท่องเที่ยวไทยซบนานแค่ไหน

โควิดลากยาวฉุดท่องเที่ยวไทยซบนานแค่ไหน
TNN ช่อง16
12 กุมภาพันธ์ 2564 ( 09:37 )
80

ธุรกิจท่องเที่ยวที่หวังจะฟื้นในช่วงปลายปีก่อน กลับต้องมาฟุบลงอีกครั้ง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ กระจายไปทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐนั่งไม่ติดต้องงัดไม้แข็งออกมาใช้ด้วยการคุมพื้นที่เสี่ยงล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ ฉุดกิจกรรรมทางกรรมทางเศรษฐกิจซบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเลือดใหญ่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
   
จากข้อมูลของ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ออกมาระบุว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยยังไม่ผ่านพ้นจุดต่ำสุด โดยจากการศึกษา 2 กรณี คือถ้าโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศควบคุมได้เร็ว และไม่มีระลอกใหม่ที่รุนแรง ขณะที่ในต่างประเทศการระบาด หลายประเทศดีขึ้น และผลการใช้วัคซีนมีประสิทธิภาพดี การดำเนินนโยบายเปิดรับต่างชาติมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 ล้านคน และสร้างรายได้ 3.4 แสนล้านบาท

แต่ในกรณีเลวร้าย คือการระบาดในประเทศลากยาว ผนวกกับต่างประเทศก็มีการระบาดรุนแรงในหลายประเทศ การผ่อนปรนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำกัดเฉพาะกลุ่มและประเทศ ในกรณีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 2 ล้านคน และมีรายได้ 2.2 แสนล้านบาท  

ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยแม้จะมีทิศทางการฟื้นตัวกว่าตลาดต่างประเทศ แต่ก็ยังอยู่ระดับต่ำ โดยจากสมมติฐาน หากทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 64 และไม่เกิดการระบาดรอบ 3 รวมทั้งสามารถเริ่มใช้วัคซีนในประเทศได้ จำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้จะอยู่ที่ 120 ล้านคน/ครั้ง และมีรายได้ 6.6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากมีความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างมีนัยสำคัญ จนส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวเป็นช่วงๆ จำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะลงมาอยู่ที่ 90 ล้านคน/ครั้ง และมีรายได้ 5 แสนล้านบาท
   
ขณะที่ "ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics"  ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 22% ต่อจีดีพี และภาคธุรกิจดังกล่าวมีการจ้างงานรวมกัน 6.9 ล้านคน ซึ่งโควิดรอบใหม่ ฉุดการค้าและภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/64 สะบักสะบอมถึง 1.4 แสนล้านบาท

โดยกลุ่มพื้นที่ควบคุมขั้นสูงสุดหรืออันตรายมากสุดคือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นฐานการผลิต แหล่งการกระจายสินค้า และขายสินค้าที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีการพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 23% และมีการจ้างงานในพื้นที่ 4.1 ล้านคนนั้น ถูกกระทบรายได้ภาคการค้าและการท่องเที่ยว 1.28 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 91% ของรายได้ที่ถูกกระทบทั้งหมด
   
กลุ่มที่เหลือเป็นพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวังสูง ซึ่งพึ่งพิงภาคการค้าและการท่องเที่ยว 20% มีการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 ล้านคน รายได้หายไปกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

ด้านมุมมองของ " Krungthai COMPASS "ห็นว่า หากรัฐยังตรึงมาตรการเข้มงวดไปถึงก.พ. จะทำให้นักท่องเที่ยวหดตัวอย่างรุนแรง จากนั้นจะค่อยๆ ฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการ และกลับมาอยู่ในระดับที่ไม่มีการระบาดรุนแรงในช่วงเดือนพ.ค. ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปีนี้ ลดลงจากที่เคยประมาณไว้จากข้อสมมุติที่ไม่มีการระบาดรุนแรงที่ 131.8 ล้านคน-ครั้ง มาอยู่ที่ 109.6 ล้านคน/ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อภาคท่องเที่ยว 1.1 แสนล้านบาท
   
ยิ่งไปกว่านั้น หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป 3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจะเหลือเพียง 100.8 ล้านคน/ครั้ง  คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1.5 แสนล้านบาท  
 

โดยในเรื่องนี้ "นายยุทธศักดิ์ สุภสร" ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ออกมายอมรับว่า โควิดรอบใหม่กระทบต่อแผน กระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศแน่นอน จากเดิมประเมินว่าในปี 64 จะมีรายได้ จากท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 10 ล้านคน รายได้ 5 แสนล้านบาท และในประเทศ 120 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 7 แสนล้านบาท จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 90-95 ล้านคน/ครั้ง


ทั้งนี้ ทาง ททท.ขอเวลาประเมินผล 2 เดือน หากสถานการณ์โควิดยังยืดเยื้อจะทบทวนเป้าหมายใหม่ แต่ตอนนี้ขอใช้ตัวเลขเดิมไปก่อนไม่อยากสร้างความสับสน
   
ส่วนข้อมูลของ "บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท." คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ระหว่างปีงบประมาณ 64 (1 ต.ค.63-30 ก.ย.64) ว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 446,986 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 47.91 ล้านคน ขณะที่ปีงบประมาณ 65 (1 ต.ค.64-30 ก.ย.65) จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 776,763 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 110.88 ล้านคน โดยประเมินว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับมาอยู่ในระดับปกติก่อนเกิดโควิดได้ในปี 66  

ด้านภาพความเสียหายของธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกฉายออกมาดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชนต้องออกมาตีฆ้องร้องป่าวดังๆ เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยลดผลกระทบเดือดร้อนภาคธุรกิจ ก่อนที่จะต้องทยอยปิดตาย และมีคนตกงานนับล้านเป็นแน่ โดยเสนอให้รัฐและผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง(โค-เพย์) ฝ่ายละครึ่ง แต่ไม่เกินฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้
   
ตลอดจนการร้องขอมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี รวมถึงมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ด้วย
   
จากความไม่แน่นอนของโควิดที่ยังคงมีอยู่สูง และยังคาดการณ์จุดสิ้นสุดได้ยาก ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรงจากวิกฤติในครั้งนี้ ยังต้องก้มหน้าเผชิญวิบากกรรมต่อไป และต้องอาศัยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มาช่วยยื้อให้ธุรกิจยังอยู่รอดต่อไปได้
   
แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวเตรียมกับกับโลกการท่องเที่ยวหลังโควิด ที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ในการดึงนักท่องเที่ยวหลังโควิด ที่จะรุนแรงมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศก็ต้องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของตัวเอง และช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกลับไปให้ได้มากและเร็วที่สุดเช่นกัน หากรัฐบาลและผู้ประกอบการไทย ไม่ปรับตัวและเตรียมพร้อมกับการรีสตาร์ทหลังโควิดแล้ว การกลับไปสู่จุดเดิมอาจจะยากและนานกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้ 




เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง