รีเซต

น้ำมันแพง 'ลาซาดา-ช้อปปี้' ปรับขึ้นค่าส่งของ พณ.เปิดทางสินค้ายื่นขยับ-ขอดูเป็นรายๆ ไป

น้ำมันแพง 'ลาซาดา-ช้อปปี้' ปรับขึ้นค่าส่งของ พณ.เปิดทางสินค้ายื่นขยับ-ขอดูเป็นรายๆ ไป
มติชน
15 มีนาคม 2565 ( 09:42 )
152
น้ำมันแพง 'ลาซาดา-ช้อปปี้' ปรับขึ้นค่าส่งของ พณ.เปิดทางสินค้ายื่นขยับ-ขอดูเป็นรายๆ ไป

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกร เธียรนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม MywawaŽ กล่าวเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลาง เพื่อให้หน่วยธุรกิจขายของกับหน่วยธุรกิจด้วยกัน (B2B) โดยเฉพาะผู้ประกอบการคนไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อผู้ขายในแพลตฟอร์มจะได้รับผลกระทบทางอ้อมมากกว่า จากราคาค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% เนื่องจากค่าน้ำมันสูงขึ้นมาก รวมถึงแพลตฟอร์มการซื้อขายอื่นๆ อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ มีการปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาสินค้าในแพลตฟอร์มยังไม่มีการปรับราคาขึ้น ยอดสั่งซื้อยังคงเป็นตามปกติ เพราะเป็นการซื้อขายแบบ B2B บริษัทยังสามารถให้บริการได้ โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะบริษัทเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เรื่องของการขนส่ง ทางแพลตฟอร์มมีการเชื่อมต่อกับบริษัทขนส่งข้างนอก บริษัทไม่ได้ทำโปรโมชั่นอุดหนุนค่าขนส่งเหมือนลาซาด้า ช้อปปี้ เพราะอยากให้ตลาดซื้อขายเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ส่วนราคาสินค้าก็ต้องปรับไปตามกลไกการตลาด

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าว่า สินค้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดราคาทรงตัว เช่น หมูเนื้อแดง ประมาณ 150 บาท/กก. เนื้อไก่ ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมวดอาหารกระป๋องยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แต่ต้องยอมรับว่าต้นทุนกระป๋องสูงขึ้น เพราะราคาเหล็กสูงขึ้น 40-45% ส่วนข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำอัดลมก็ไม่มีการขึ้นราคา สำหรับนมและผลิตภัณฑ์จากนม มีหนึ่งยี่ห้อขอปรับขึ้นแต่กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาตให้ปรับขึ้น สำหรับอาหารสัตว์ ต้องยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อก่อนกิโลกรัม (กก.) ละ 6-8 บาท ขณะนี้ กก.ละ 11-12 บาท เกษตรกรพอใจ แต่ด้านปศุสัตว์ไม่ค่อยพอใจเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อราคาเนื้อสัตว์ ส่วนข้าวสาลีราคาปรับสูงขึ้นเพราะแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลกคือยูเครนอยู่ในภาวะสงคราม ต้องหาทางออกร่วมกันได้มอบหมายปลัดกระทรวงพาณิชย์กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหารือร่วมกัน เพื่อดูข้อเท็จจริงและมาตรการต่างๆ ที่ควรนำมาใช้ให้ต้นทุนการผลิตด้านปศุสัตว์ลดลงเปิดทางยื่นปรับราคาเป็นรายๆ

 

“รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ต้องมาดูในสิ่งที่เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ตอนนี้สินค้ามีทั้งปรับขึ้น ปรับลง ต้องดูให้สอดคล้องสถานการณ์ และสมดุลกับทุกฝ่าย หากรายใดจำเป็นต้องปรับ ก็ให้ยื่นมาดูข้อเท็จจริง และจะดูเป็นรายๆ ไม่ได้เหมาทั้งหมด แต่ตอนนี้ผมยังไม่อนุมัติ หากสินค้าใดปรับขึ้น เกินกรอบที่กำหนดไว้ ก็ถือว่ามีความผิด” นายจุรินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง