วิจัยพบ 'แผลใจวัยเด็ก' เพิ่มความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
Xinhua
4 สิงหาคม 2566 ( 19:22 )
109
ซิดนีย์, 4 ส.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของออสเตรเลียเปิดเผยว่าผู้หญิงที่มีบาดแผลทางจิตใจ (trauma) ในวัยเด็กอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดในระดับสูงกว่าบทความจากวารสารบีเอ็มเจ โอเพน (BMJ Open) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย พบผู้หญิงที่มีบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก อาทิ ถูกทารุณ ถูกทอดทิ้งทางอารมณ์ และสัมผัสกับความรุนแรงในครอบครัว มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์มากกว่าผู้ที่ไม่มีบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กถึงร้อยละ 37 รวมถึงเสี่ยงให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักน้อยหรือคลอดก่อนกำหนดมากกว่าถึงร้อยละ 31อนึ่ง งานวิจัยนี้จัดทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 21 ฉบับ ซึ่งเผยแพร่ในปี 1994-2022 ครอบคลุมผู้เข้าร่วมการวิจัยจากสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรปคณะนักวิจัยยังพบว่าบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ความเสี่ยงโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 ความเสี่ยงให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักน้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 และความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 41บาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กอาจเปลี่ยนแปลงการกำกับควบคุมเส้นทางส่งสัญญาณความเครียดและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ขณะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตลอดจนเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของดีเอ็นเอ (DNA) และเร่งความแก่ระดับเซลล์ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และผลการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ทั้งนี้ คณะนักวิจัยเผยว่าการตระหนักได้ว่าเป็นผู้หญิงที่มีบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็กและปรับการดูแลแบบเฉพาะบุคคลอาจมอบโอกาสช่วยพัฒนาสุขภาพกายและใจของแม่และเด็ก