รีเซต

ความสำเร็จครั้งสำคัญเด็กมัธยมไทยส่งดาวเทียมไปอวกาศ

ความสำเร็จครั้งสำคัญเด็กมัธยมไทยส่งดาวเทียมไปอวกาศ
TrueID
18 สิงหาคม 2563 ( 16:03 )
4.2K
ความสำเร็จครั้งสำคัญเด็กมัธยมไทยส่งดาวเทียมไปอวกาศ

ความสำเร็จครั้งแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนของเด็กนักเรียนระดับมัธยมประเทศไทย และมีโรงเรียนมัธยมเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีดาวเทียมเป็นของตัวเอง เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ส่งดาวเทียม BCCSAT-1 โครงการ BCC SPACE PROGRAM คาดส่งเข้าวงโคจรอวกาศปลายปีนี้ 

 

 

ดร.ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ที่ปรึกษาโครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม (BCC SPACE PROGRAM) เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตรียมได้ดำเนินการโครงการส่งดาวเทียม BCCSAT-1 โครงการ BCC SPACE PROGRAM เข้าสู่วงโคจรอวกาศเพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โดยตั้งเป้าหมายที่จะบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ซึ่งเริ่มสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) โดย ได้มีการทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และทางมหาวิทยาลัยโตเกียวในการพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียนผ่านการเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการศึกษาการทํางานของดาวเทียมจําลองหรือ CANSAT สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์ให้แก่นักเรียนในการดูแล รับผิดชอบและจัดการโครงการพัฒนา CANSAT   เพื่อการแข่งขันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 

 

ดร.ศุภกิจ ยังกล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าจากนั้น ในช่วงปี ค.ศ.2018 (วันที่ 13-19 สิงหาคม 2018) นักเรียน ทีม “GAIA” ประกอบด้วย นายวาริช  บุญสนอง  นายภวัต จ้อยจำรูญ  นายธีรธัช บรรณสารตระกูล  และ อาจารย์อดิเรก พิทักษ์ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา (ที่ปรึกษาและประสานงาน) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และ บริษัท อัสโตเบอร์รี่ จำกัด ได้รับรางวัล BEST MISSION AWARD (selected by committee from enterprise) สามารถนำเสนอผลการทดลองการปล่อย CANSAT และสรุป MISSION สำเร็จได้ทุกภารกิจที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ทำให้เป็นที่ประทับใจของกรรมการ จากการเข้าร่วมการแข่งขัน CANSAT ในรายการ THE 14th NOSHIRO SPACE EVENT ประเภท Scientific ซึ่งเป็นการแข่งขันออกแบบและสร้างเพื่อปฏิบัติภารกิจของดาวเทียมและยานอวกาศจำลอง  ณ เมือง อะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น จึงถือว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของโครงการนี้ในการนำเสนอผลการทดลองได้บรรลุตามภารกิจที่ตั้งไว้

 

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการนี้ ดร.ศุภกิจ ระบุว่า ในปลายปีนี้ราวเดือนพศจิกายน 2020 เตรียมส่งดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ CubeSat เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงในโลกที่ถูกพัฒนาและส่งเข้าสู่วงโคจรด้วยฝีมือของนักเรียนระดับมัธยม นอกเหนือจากนี้ ทางโรงเรียนฯ ได้สร้างห้องปฏิบัติการด้านอวกาศ (Space Laboratory) และสถานีควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน (Ground Station) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศและการประยุกต์ความรู้เรื่องการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลาย ขยายไปสู่ระดับมัธยมต้นและประถมศึกษาต่อไปในอนาคต จึงเป็นก้าวสำคัญของวงการศึกษาอีกครั้ง

 

...............

 

 

รู้จัก BCCSAT-1 ดาวเทียมดวงแรกฝีมือเด็กมัธยม

 

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยบุกเบิกโครงการศึกษาด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศสำหรับนักเรียนมัธยม ประเดิมด้วยการสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ CubeSat เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรภายในปลายปี พ.ศ.2563 ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงในโลกที่ถูกพัฒนาและส่งเข้าสู่วงโคจรด้วยฝีมือของนักเรียนระดับมัธยม  นอกเหนือจากนี้ ทางโรงเรียนฯ ได้สร้างห้องปฏิบัติการด้านอวกาศ (Space Laboratory) และสถานีควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน (Ground Station) เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติภารกิจด้านอวกาศ

 

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ดำเนินการโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม (BCC SPACE PROGRAM) เมื่อปลายปี พ.ศ.2560  เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา โครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม เป็นหนึ่งในโครงการ Pre-University ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสาขาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ก่อนเข้าสู้รั้วมหาวิทยาลัย

 

ซึ่งในโครงการ KNACKSAT ซึ่งเป็นการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยโตเกียว นําโดย Prof. Dr. Shinichi  Nakasuka ผู้ให้กําเนิดดาวเทียมขนาดเล็กที่เรียกว่า  CubeSat XI IV ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาด 10cm x 10cm x 10cm ดวงแรกของโลกที่ประสบความสําเร็จในการปฏิบัติการในอวกาศ โดยมีความร่วมมือกับบริษัท ASTROBERRY ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประสานงานโครงการนี้ 

 

 

 

วัตถุประสงค์ของโครงการบีซีซี สเปซโปรแกรม ได้แก่ การสร้างพื้นฐานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศให้แก่นักเรียนโดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และจะขยายฐานการกระจายความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศไปสู่ระดับมัธยมต้นและประถมศึกษาต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการบินและอวกาศเป็นองค์ความรู้แบบบูรณาการ การศึกษาทางด้านดังกล่าวจึงเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนในการสังเคราะห์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง เศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่มนุษยชาติในอนาคต

 

นอกเหนือจากการสร้างพื้นฐานและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านอวกาศให้แก่นักเรียนแล้ว อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของโครงการ บีซีซี สเปซโปรแกรม คือ การพัฒนาคุณลักษณะสำคัญของเยาวชน ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายมิติ ตามแนวทาง Thailand 4.0  ซึ่งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังกล่าว ได้แก่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity & Divergent Thinking)  มีความระบบความคิดแบบบูรณาการ (Integrated thinking) มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (Analytical thinking for decision making) มีความมุ่งมั่นไม่ย้อท้อในการเรียนรู้และการทำงาน(Persistence in Learning and Working) มีทักษะในการบริหารจัดการโครงงานให้สำเร็จลุล่วงและการทำงานเป็นทีม (Project Management & Teamwork)

 

ทางโรงเรียนได้มีการทำสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และทางมหาวิทยาลัยโตเกียว  ในการพัฒนาพื้นฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศให้แก่นักเรียนผ่านการเรียนรู้ทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการศึกษาการทํางานของดาวเทียมจําลองหรือ CANSAT สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์ให้แก่นักเรียนในการดูแล รับผิดชอบและจัดการโครงการพัฒนา CANSAT   เพื่อการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ.

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง