รีเซต

ล็อกฮีดมาร์ติน เผยดีลยกระดับเทคโนโลยีเครื่องบินรบให้ทอ.ไทย ถ้าซื้อ F-16 ! พร้อมช่วยอัปเกรด Datalink ให้

ล็อกฮีดมาร์ติน เผยดีลยกระดับเทคโนโลยีเครื่องบินรบให้ทอ.ไทย ถ้าซื้อ F-16 ! พร้อมช่วยอัปเกรด Datalink ให้
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2567 ( 12:36 )
58
ล็อกฮีดมาร์ติน เผยดีลยกระดับเทคโนโลยีเครื่องบินรบให้ทอ.ไทย ถ้าซื้อ F-16 ! พร้อมช่วยอัปเกรด Datalink ให้

ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ F-16 แถลงข่าวอ้างพร้อมมอบข้อเสนอชดเชยทางเศรษฐกิจ (Offset / a robust industrial participation proposal) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเครื่องบินรบ เช่น การช่วยยกระดับ Datalink ให้กับไทยเพิ่มเติม และการพัฒนาศูนย์วิจัยและอบรมแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินรอบ ตลอดจนโอกาสในการให้ไทยเป็นศูนย์การผลิตชิ้นส่วน (Supply Chain) ให้กับ Lockheed Martin ท่ามกลางการแข่งขันเสนอขายสู้กับเครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen E/F ของสวีเดน


ประกาศของ Lockheed Martin บนเพจเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 9.00 วันที่ 16 ก.ค. 2024 ลิงก์ https://www.facebook.com/share/p/zMH3YK4H4mfsrSGC/


เผยดีลเพิ่มเติม F-16 สำหรับกองทัพอากาศไทย

ในการแถลงข่าว Lockheed Martin ได้พูดถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรตลอด 40 ปี ระหว่างไทยกับ Lockheed Martin ในฐานะผู้ใช้งาน F-16 โดยในข้อเสนอขาย (Proposal) F-16 Block 70/72 จะประกอบไปด้วยผลประโยชน์ 7 ด้าน ดังนี้


  1. 1. ศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research & Development Center) เพื่อยกระดับแรงงานไทยในหลากหลายด้าน
  2. 2. การฝึกอบรวมวิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง (Advanced aerospace engineering training) ให้กับพันธมิตรในไทย รวมถึงกองทัพอากาศไทย
  3. 3. การพัฒนาแรงงานในภาคการผลิต (Manufacturing workforce development) สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  4. 4. การยกระดับมาตรฐานการรับ - ส่งข้อมูล (Advanced datalink upgrade) ระหว่าง F-16 Block 70/72 กับ F-16 AM/BM eMLU และรุ่นย่อยอื่น ๆ ของกองทัพอากาศไทยที่มีอยู่เดิม 
  5. 5. การฝึกอบรมการบำรุงรักษาเครื่องบินขับไล่ (Fighter maintenance training) เพิ่มเติมสำหรับกองทัพอากาศไทย
  6. 6. การเสนอความเป็นไปได้ในการให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain opportunities) ในการผลิตชิ้นส่วนให้กับ Lockheed Martin 
  7. 7. การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainment capabilities) สำหรับประเทศไทย


ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดเป็นเพียงการแถลงการณ์จากฝั่งผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin เท่านั้น ในขณะที่กองทัพอากาศไทยในปัจจุบันยังไม่ได้มีการแถลงข่าวถึงกรณีนี้เพิ่มเติม


เทคโนโลยีเครื่องบินรบที่ไทยจะได้ ถ้าซื้อ F-16

TNN Tech มองว่า จากข้อเสนอที่ประกาศโดยฝั่ง Lockheed Martin ประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีหลักที่กองทัพอากาศไทยจะได้ก็คือ การช่วยอัปเกรดดาตาลิงก์ (Datalink) ของกองทัพอากาศไทย โดย Datalink เป็นเครือข่ายการรับส่งข้อมูลทางยุทธวิธีหรือชื่อเต็มว่า Tactical Datalink เนื่องจากในปัจจุบันกองทัพอากาศไทยมี Datalink ที่ใช้งานอยู่ด้วยกันสองแบบ คือ Link-16 และ Link-TH ซึ่งในเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่มีประจำการในปัจจุบันนั้นรองรับเพียงแค่ Link-16 ซึ่งเป็นมาตรฐานในกลุ่มพันธมิตร NATO ในขณะที่ Link-TH เป็นระบบ Datalink ที่ไทยกำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นมาตรฐานของกองทัพเองในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องบินขับไล่ JAS 39 Gripen C/D, เครื่องบินระวังภัยส่วนหน้า Saab 340 AEW/ELINT , เครื่องบินขับไล่ Alphajet, เครื่องบินขับไล่แบบ F-5TH, เครื่องฝึกบิน T-50TH, และเครื่องบินโจมตีเบา AT-6TH ที่สามารถใช้ Link-TH ได้


โดยในแถลงการณ์ระบุเพียงว่า Lockheed Martin จะเข้ามาช่วยสนับสนุนทางเทคนิค เพื่อให้กองทัพอากาศไทยสามารถยกระดับดาตาลิงก์ในฝูงบินที่ประจำการอยู่เดิมได้ (technical assistance for an advanced datalink upgrade to ensure interoperability with existing fleet) แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะเข้ามาสนับสนุนการปรับปรุง Link-16 ให้ใช้งานร่วมกันได้ทั้งกองทัพอากาศ หรือการสนับสนุนการพัฒนา Link-16 สำหรับกองทัพอากาศไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงในด้านใด TNN Tech เชื่อว่ากองทัพอากาศไทยจะได้การสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี Datalink จาก Lockheed Martin ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินรบที่สำคัญที่สุดของโลก เพราะนอกจากเป็นผู้ผลิต F-16 แล้ว ยังเป็นผู้พัฒนาเครื่องบินรบยุคที่ 5 อย่าง F-35 ด้วยเช่นกัน


ปัจจุบัน กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินขับไล่ F-16A/B ADF F-16A/B OCU และ F-16A/B eMLU ประจำการรวมกันประมาณ 50 ลำ และจะเริ่มทยอยปลดประจำการในปี 2027 นี้  ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานว่ากองทัพอากาศอยู่ระหว่างพิจารณาจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ทดแทนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยปัจจุบันตัวเลือกที่เป็นกระแสคือ F-16 Block 70/72 จาก Lockheed Martin ของสหรัฐอเมริกา และ JAS 39 Gripen E/F จาก Saab ของสวีเดน โดย F-16 Block 70/72 ได้ชูจุดเด่นในการติดตั้งระบบเรดาร์เดียวกันกับที่ใช้บนเครื่องบินรบยุคที่ 5 อย่าง F-35 และ F-22 รวมถึงเสริมความทนทานของลำตัวเครื่องบินให้มีอายุการบินสูงสุดที่ 12,000 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า F-16 ในรุ่นย่อยก่อนหน้าถึงร้อยละ 50


ข้อมูลและภาพจาก Lockheed MartinThaiarmedforce

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง