รีเซต

ผลสำรวจพบ ปี 64 เด็กป.1 มี "ไอคิว" เพิ่ม 102.8 ส่วน "อีคิว" เกณฑ์ปกติ

ผลสำรวจพบ ปี 64 เด็กป.1 มี "ไอคิว" เพิ่ม 102.8 ส่วน "อีคิว" เกณฑ์ปกติ
TNN ช่อง16
11 พฤษภาคม 2565 ( 13:24 )
118
ผลสำรวจพบ ปี 64 เด็กป.1 มี "ไอคิว" เพิ่ม 102.8 ส่วน "อีคิว" เกณฑ์ปกติ

วันนี้ (11 พ.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลสำรวจระดับสติปัญญาหรือไอคิว และความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว ของเด็กไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ 

พบว่า มีระดับ "ไอคิว" เฉลี่ย 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 

และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า เด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด ส่วนเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจาก ร้อยละ 31.8 เหลือ ร้อยละ 21.7

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึงร้อยละ 4.2 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 2 สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 พบสูงถึงร้อยละ 10.4 

ส่วน "ผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์" หรือ "อีคิว" พบอยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 83.4 แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี 2559 

พบว่า เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลที่ 100 แต่การสำรวจครั้งล่าสุดปี 2564 มีค่าเฉลี่ยเกินระดับ 100 แล้ว ถือเป็นทิศทางที่ดีได้ตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570 

โดยผลการสำรวจในปี 2564 จะให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP


ข่าวที่เกี่ยวข้อง