รีเซต

เสื้อผ้าขับเคลื่อนด้วยเอไอ เปลี่ยนสีไม่ซ้ำ นำเสนอแฟชั่นแปลกใหม่ไม่รู้จบ

เสื้อผ้าขับเคลื่อนด้วยเอไอ เปลี่ยนสีไม่ซ้ำ นำเสนอแฟชั่นแปลกใหม่ไม่รู้จบ
TNN ช่อง16
8 ธันวาคม 2566 ( 11:10 )
39

ทีมนักวิจัยจากสถาบันในฮ่องกง พัฒนานวัตกรรม อินเทลลิเจนซ์ เท็กซ์ไทล์ (intelligent textiles) หรือนวัตกรรมสิ่งทออัจฉริยะ โดยติดตั้งกล้องขนาดเล็กเข้ากับเนื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยพิเสษ และควบคุมการทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เปลี่ยนสีบนเนื้อผ้าได้ง่าย ๆ ด้วยการออกคำสั่งผ่านการขยับมือเป็นท่าทางต่าง ๆ 

ภาพจากรอยเตอร์

 

นวัตกรรมนี้เปิดตัวครั้งแรกที่งานแสดงแฟชั่นระดับโลก มิลาน แฟชั่น วีค (Milan Fashion Week) ในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนางแบบได้สวมใส่ชุดที่ทำจากเนื้อผ้าพิเศษนี้ เดินโชว์ท่ามกลางรันเวย์ที่มืดมิด โดยที่เสื้อผ้าของพวกเขาจะเปลี่ยนสีที่ต่างกันออกไป ตั้งแต่สีน้ำเงินสดใส ไปเป็นสีส้ม สีเขียว และสีม่วงเข้ม 

ภาพจากรอยเตอร์

 

โดยห้องปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ด้านการออกแบบ ไอดีแล็บ (AiDLab) ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ได้ใช้เส้นด้าย ถักทอเข้ากับเส้นใยแก้วนำแสงพลาสติก (POF) ซึ่งเป็นวัสดุที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และยานยนต์ และติดตั้งกล้องขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอไว้ในชุดที่ทำขึ้น พร้อมทั้งใช้การเรียนรู้เชิงลึก และการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์ มาฝึกฝนให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ตีความข้อมูลจากภาพ

ภาพจากรอยเตอร์

 

เมื่อตัวเนื้อผ้าอัจฉริยะที่ถักถอมา ติดตั้งเข้ากับกล้องขนาดเล็กแล้ว มันก็จะรับการสั่งงานเปลี่ยนสีสัน ผ่านการควบคุมด้วยอุปกรณ์พกพา เช่น สมาร์ตโฟน และรีโมทคอนโทรล หรือจะใช้การเคลื่อนไหวของมือและร่างกาย เพื่อให้เอไอสั่งการเปลี่ยนสีผ่านกล้องไปยังเนื้อผ้า ให้เกิดเป็นแสงสีต่าง ๆ 

ภาพจากรอยเตอร์

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าทำท่ายกนิ้วโป้ง ตัวผ้า จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม ถ้าทำท่ามินิฮาร์ต หรือทำท่าหัวใจ จะทำให้เปลี่ยนเป็นสีชมพู ถ้าทำท่าโอเค ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และยังสามารถใช้การดึงสีจากรูปภาพในโทรศัพท์ มาฉายลงบนผ้าได้ด้วย

ภาพจากรอยเตอร์

 

ทีมวิจัยมองว่า ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ คือการช่วยให้อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอมีความยั่งยืนขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนสีชุดได้หลากหลาย อาจจะช่วยลดขยะจากการทิ้งเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการ และนอกเหนือจากการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นกิจกรรมกระตุ้นประสาทสัมผัส สำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรือผู้ที่มีปัญหาในการเรียนรู้ได้อีกด้วย


ข้อมูลจาก reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง