รีเซต

กนอ.กัดฟันลดเป้าขายที่ดิน 1.2 พันไร่ ลุยรื้อแพจเกจจูงใจลงทุน

กนอ.กัดฟันลดเป้าขายที่ดิน 1.2 พันไร่ ลุยรื้อแพจเกจจูงใจลงทุน
มติชน
29 พฤษภาคม 2564 ( 06:09 )
53

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กอน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และแผนดำเนินการของกนอ. ว่า ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุนของไทยและทั่วโลกผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นจากการกระจายวัคซีน การค้า การลงทุน การบริโภค เริ่มกลับมา ขณะที่ประเทศไทย ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจด้านต่างๆ ดีขึ้น เวลานี้การกระจายวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฟื้นตัวของประเทศ แม้เวลาจะเป็นช่วงฝุ่นตลบ หรือการปรับกระบวนการต่างๆ แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นไม่นาน และหลังจากนี้จะดีขึ้นและเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตแน่นอน

 

 

“แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มดีขึ้น แต่ในด้านการลงทุน ต้องอาศัยการเจรจา การลงพื้นที่จริง ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญ ต้องใช้แนวทางออนไลน์เป็นหลัก กนอ.จึงตัดสินใจปรับลดเป้าหมายยอดการขาย/เช่าพื้นที่ของงบประมาณ 2563 ลงเหลือ 1,200 ไร่ จากเป้าหมาย 1,500 ไร่ ซึ่งช่วง 7 เดือนของปีงบ สามารถทำยอดขาย/เช่า แล้วกว่า 700 ไร่” นายวีริศ กล่าว

 

 

 

นายวีริศ กล่าวว่า ผลจากโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การลงทุนทั้งโลกเปลี่ยนไป กนอ.เองจึงเตรียมปรับกระบวนการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านของกนอ.ทั้งหมดเช่นกัน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วแต่ละด้าน หน้าบ้านจะเร่งหารือหน่วยงานลลทุนของประเทศต่างๆ หารือนักลงทุน รวมทั้งศึกษาแนวทางการกระตุ้นลงทุนที่ดึงดูดใจมากขึ้น จะหารือกับหน่วยงานการลงทุน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในนิคมฯให้น่าสนใจมากขึ้น จากเดิมเคยลดสิทธิประโยชน์บางอุตสาหกรรม เพราะเนื้อหอม แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศคู่แข่งของไทย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างกำหนดสิทธิประโยชน์จนเกิดจุดเด่นในด้านต่างๆที่ดึงดูดการลงทุน ไทยจึงควรปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน

 

 

สำหรับการปรับหลังบ้านจะเพิ่มศักยภาพพนักงานกนอ. วางแผนกำลังคนรองรับการเกษียณประมาณ20%ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวจะตั้งทีมงานขึ้นมาเฉพาะคัดพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาศึกษาลู่ทางการพัฒนาองค์กร เพิ่มช่องทางรายได้ โดยอาจใช้วิธีร่วมลงทุน หรือตั้งบริษัทลูก ไม่เน้นจ้างเอกชนเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง อย่างธุรกิจการจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี จนกระทบต่อแผนการผลิตของโรงงาน อาจเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อผลิตน้ำได้ต่อเนื่อง รวมทั้งอาจตั้งบริษัทลูกขึ้นมารองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5จีในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยแนวทางดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่มให้กับกนอ.ในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง