จรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin อาวุธเทคโนโลยีขั้นสูงที่กองทัพยูเครนใช้ในสงคราม
ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนการต่อสู้มีแนวโน้มเป็นไปในแนวทางที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin หนึ่งในอาวุธเทคโนโลยีขั้นสูงที่กองทัพสหรัฐอเมริกามอบให้กองทัพยูเครนใช้ต่อสู้ในสงคราม อาวุธชนิดนี้ได้ก่อความเสียหายให้กับขบวนรถถังของรัสเซียอย่างรุนแรง กล่าวกันว่าทหารราบ 2 คน พร้อมจรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin จำนวน 1 ชุด สามารถทำลายรถถังสมรรถนะสูง ของรัสเซียได้ 1 คัน
โครงสร้างของจรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แท่นยิงจรวดความยาวประมาณ 1.2 เมตรและตัวจรวดความยาวของจรวด 1.1 เมตร ติดตั้งเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงแข็ง (Solid-fuel rocket) ระยะหวังผลยิงด้วยพลทหารราบ 2.5 กิโลเมตร ระยะหวังผลยิงจากการติดตั้งเข้ากับยานเกราะหรือรถถัง 4.75 กิโลเมตร หัวรบแบบ Tandem-charge HEAT หลังจากการยิงจรวดบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อทำวิธีโค้งพุ่งเข้าใส่รถถังจากด้านบนซึ่งเป็นบริเวณที่รถถังมีการป้องกันและแผ่นเกราะที่บางกว่าบริเวณอื่น
ระบบการเล็งเป้าหมาย Command Launch Unit ติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับความร้อนรังสีอินฟราเรด พลทหารราบที่ทำการยังสามารถส่งข้อมูลเป้าหมายไปยังศูนย์ควบคุมกลางตามตำแหน่ง GPS กล้องสามารถขยายภาพ 4 เท่า ทำงานได้ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ระบบการเล็งเป้าถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาเพื่อการขนย้ายที่คล่องตัวมากขึ้น ภายหลังกดปุ่มยิงพลทหารราบทั้ง 2 นาย สามารถหลบหนีซ่อนตัวโดยไม่จำเป็นต้องเล็งเป้าไว้ตลอดเวลาเป็นหน้าที่ของจรวดที่พุ่งไปหาเป้าหมายอัตโนมัติเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับพลทหารราบ
จรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin จัดอยู่ในกลุ่มอาวุธต่อสู้ภาคพื้นดินแบบ Anti-Tank Missile พัฒนาโดยบริษัท Raytheon และ Lockheed Martin ประเทศสหรัฐอเมริกาประจำการในกองทัพสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 1996 และถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังประจำการในกองทัพประเทศต่าง ๆ ประมาณ 21 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ไต้หวัน โปแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ยูเครน อังกฤษและประเทศพันธมิตรอื่น ๆ
กองทัพบกไทยเคยมีการเสนอซื้อจรวดพิฆาตรถถัง FGM-148 Javelin ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 จำนวน 50 แท่นยิงพร้อมจรวด 300 ลูก มูลค่าประมาณ 83.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,800 ล้านบาท รัฐสภาสหรัฐอเมริกาอนุมัติการจัดซื้อของกองทัพบกไทย อย่างไรก็ตามในปี 2021 กองทัพบกไทยถูกตัดงบประมาณจำนวนมากทำให้โครงการจัดซื้อดังกล่าวโดนพับเก็บไม่ได้ดำเนินการต่อ
ข้อมูลจาก military-history.fandom.com
ภาพจาก Raytheon Technologies