รีเซต

ยามเกิดสงครามนิวเคลียร์ ไอโอดีนช่วยป้องกันอันตรายจาก "กัมมันตรังสี" ได้จริงหรือ?

ยามเกิดสงครามนิวเคลียร์ ไอโอดีนช่วยป้องกันอันตรายจาก "กัมมันตรังสี" ได้จริงหรือ?
TNN ช่อง16
8 มีนาคม 2565 ( 12:30 )
220
ยามเกิดสงครามนิวเคลียร์ ไอโอดีนช่วยป้องกันอันตรายจาก "กัมมันตรังสี" ได้จริงหรือ?

สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงร้อนระอุ สร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนในแถบยุโรปกลาง โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความหวาดระแวงจากการที่รัสเซียประกาศป้องปรามยูเครนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงแห่เข้าซื้อผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนจากร้านขายใน เพื่อหวังป้องกันตนเองจากกัมมันตรังสี




นิวเคลียร์ฟิชชัน vs. นิวเคลียร์ฟิวชัน


Nuclear deterrence ในเชิงยุทธศาสตร์ หมายถึง การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้รัฐคู่ขัดแย้งทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศให้กองกำลังป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์เตรียมพร้อมรับมือขั้นสูงสุด หากชาติตะวันตกยังเดินหน้าคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เป็นต้น หมายความว่า รัสเซียมีโอกาสโจมตีรัฐคู่ขัดแย้งด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ หากรัฐดังกล่าวกระทำในสิ่งที่รัสเซียไม่ต้องการ


สำหรับอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีที่มาจากการเกิดปฏิกิริยาของพลังงานที่ทำให้เกิดแรงระเบิดและความร้อน เรียกว่า ปฏิกิริยานิวเคลียร์ มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear fission) เกิดจากการแตกตัวของธาตุกัมมันตรังสี และปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear fusion) เกิดจากการรวมตัวของธาตุเบากลายเป็นธาตุที่มีน้ำหนักมากขึ้น


ที่มาของภาพ Askmattrab

 


ปกติแล้วคุณอาจจะคุ้นเคยกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันมากกว่า เนื่องจากมันเป็นปฏิกิริยาที่นำมาใช้ในการสร้างพลังงานในโรงผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึงระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาทิ้งลงเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ก็เป็นระเบิดปรมาณูที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันจะเป็นปฏิกิริยาที่ให้พลังงานออกมามากกว่า สังเกตได้จากการสร้างพลังงานในแกนกลางของดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ในจักรวาลก็อาศัยปฏิกิริยานี้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชันขึ้นในเวลาถัดมา


ระเบิดปรมาณูไฮโดรเจน ซึ่งใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน
ที่มาของภาพ AFP

 


ในอาวุธนิวเคลียร์ฟิวชันจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันก่อน และส่วนของลิเทียมดิวเทอไรด์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวก่อกำเนิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน โดยมีกลไกเริ่มจากส่วนที่ก่อกำเนิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจะสร้างความร้อน, แรงดัน และนิวตรอน (Neutron - องค์ประกอบหนึ่งของอะตอม มีคุณสมบัติเป็นกลางทางไฟฟ้า) ออกมา จากนั้นนิวตรอนจะเข้าไปรวมกับส่วนของลิเทียมดิวเทอไรด์ จนเกิดเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่มีกำลังทำลายล้างสูงกว่าออกมา


ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งอาวุธนิวเคลียร์แบบเก่าและแบบใหม่ได้นำปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันเข้ามาใช้ด้วย และปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันนี้เองที่เป็นเหตุให้ประชาชนในแถบยุโรปกลางเกิดความหวาดระแวงจนต้องซื้อผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเพื่อป้องกันตนเองจากกัมมันตรังสี แต่ไอโอดีนจะช่วยป้องกันได้อย่างไร?

ที่มาของภาพ Maxpixel

 



ไอโอดีนป้องกันกัมมันตรังสีได้จริงหรือ?


การเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจากธาตุยูเรเนียม (Uranium) หรือพลูโทเนียม (Plutonium) ล้วนให้ผลพลอยได้เป็นไอโอดีน-131 (Iodine-131) ซึ่งเป็นรูปแบบไอโอดีนกัมมันตรังสีที่ร่างกายสามารถดูดซับได้ และอวัยวะที่ดูดซับไอโอดีนได้มากที่สุดในร่างกาย คือ ต่อมไทรอยด์ แหล่งสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต้องใช้ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบตั้งต้น


หากต่อมไทรอยด์ดูดซับไอโอดีน-131 เข้าไปเรื่อย ๆ สารกัมมันตรังสีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์และอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็ง จนเกิดเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในที่สุด ทั้งนี้ ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่สามารถ "อิ่ม" จากการได้รับไอโอดีนจนเพียงต่อความต้องการแล้ว ดังนั้น การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน (ในรูปโพแทสเซียมไอโอไดด์) เปรียบเสมือนการส่งไอโอดีนที่มีความเสถียรไปให้ต่อมไทรอยด์ใช้จนอิ่ม แทนการดูดซับไอโอดีนกัมมันตรังสีจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

ที่มาของภาพ Lance Industries

 


ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ร้านยาจะมียอดขายผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรปกลาง อย่างไรก็ตาม การรับประทานไอโอดีนอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์จากกัมมันตรังสีได้ แต่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายยังคงดูดซับไอโอดีนกัมมันตรังสีได้ดังเดิม (และไม่สามารถอิ่มตัวได้เหมือนต่อมไทรอยด์) สุดท้ายจะเกิดเป็นมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น


อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญออกมาชี้แจงว่าการรับประทานไอโอดีนเสริมนั้น ไม่ได้มีประโยชน์มากนักเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงจากการรับประทานไอโอดีนมากเกินไป จึงอยากให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและคอยติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องจะมีผลดีมากกว่า

ที่มาของภาพ Fox News

 


เหนือสิ่งอื่นใดการปกป้องตนเองจากภัยของอาวุธนิวเคลียร์และกัมมันตรังสีที่ดีที่สุด คือ ไม่เกิดการสู้รบกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยเร็ว และมีการนองเลือดน้อยที่สุดโดยไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กัน เพราะผลสุดท้ายแล้วผลกระทบอันใหญ่หลวงจะตกถึงประชาชนอันบริสุทธิ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1, 2


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง