รีเซต

สิงคโปร์วิจัยหนอนยักษ์ “Superworm” กินพลาสติกเป็นอาหาร เพื่อการกำจัดขยะแนวใหม่

สิงคโปร์วิจัยหนอนยักษ์  “Superworm” กินพลาสติกเป็นอาหาร เพื่อการกำจัดขยะแนวใหม่
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2567 ( 10:07 )
74
สิงคโปร์วิจัยหนอนยักษ์  “Superworm” กินพลาสติกเป็นอาหาร เพื่อการกำจัดขยะแนวใหม่

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ กำลังศึกษาวิธีการย่อยสลายพลาสติกแบบใหม่จากการใช้ ‘หนอนยักษ์’ กินพลาสติก โดยหวังว่าจะนำเอาความรู้ที่ได้จากการกระบวนการย่อยสลายพลาสติกในลำไส้ของหนอนยักษ์ มาพัฒนาเป็นวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น


ภาพจาก Nanyang Technological University - NTU

 

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University - NTU) ได้ทำการศึกษาหนอนยักษ์ ซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โซโฟบาส เอททราตัส (Zophobas atratus) โดยระบุว่าหนอนชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วไป เพราะมีชื่อเสียงจากการเป็นหนอนที่กินพลาสติกได้


ทีมวิจัยได้ศึกษาหนอนชนิดนี้ และพบว่าภายในลำไส้ของมัน จะมีแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายพลาสติกทั่วไปได้ในระดับโมเลกุล แต่อย่างไรก็ตาม การจะเลี้ยงหนอนปริมาณมาก เพื่อนำไปช่วยกำจัดขยะพลาสติก เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วพวกมันจะใช้เวลาไม่นานในการเติบโตไปเป็นแมลงปีกแข็ง ซึ่งกินพลาสติกไม่ได้แล้ว


ภาพจาก Nanyang Technological University - NTU

 

ดังนั้นสิ่งที่ทีมนักวิจัยต้องการ คือการตัดตัวกลางของกระบวนการย่อยสลายพลาสติกนี้ออกไป ซึ่งก็คือ “การใช้หนอน” โดยขั้นตอนต่อไปของกระบวนการศึกษา คือการทดลองสร้างจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนในหลอดทดลอง เพื่อหาวิธีนำกลไกทางธรรมชาตินี้ ไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อทำให้การย่อยสลายพลาสติก มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ขยะพลาสติก ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อให้เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศทางทะเลและน้ำจืดของพลาสติกทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยรายงานปี 2020 จากศูนย์การพัฒนาภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ ประมาณการปริมาณขยะพลาสติกที่เข้าสู่มหาสมุทรจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะอยู่ในช่วง 2.3 ถึง 6.4 ล้านตันภายในปี 2030


และสำหรับการวิจัยเรื่องหนอนยักษ์กินพลาสติกนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีมาแล้วที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในประเทศออสเตรเลีย ที่ใช้หนอนยักษ์ สายพันธุ์โซโฟบัส โมริโอ (Zophobas morio) ที่สามารถกินพลาสติกเป็นอาหารและมีชีวิตอยู่โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารชนิดอื่น ไม่แน่ว่าหากนักวิจัยสามารถพัฒนากระบวนการได้แล้วเสร็จ ก็อาจจะปูทางไปสู่วิธีการกำจัดขยะพลาสติกรูปแบบใหม่ ที่มีความยั่งยืนกับธรรมชาติมากขึ้นได้ในอนาคต


ข้อมูลจาก apvideohub, ntu.edu.sg

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง