รีเซต

โลกล็อบบี้ลดเงื่อนไขกู้โลกร้อน เอกสารหลุดเผย นานาชาติร้องขอ UN ลดเป้าหมายรับมือ Climate Change

โลกล็อบบี้ลดเงื่อนไขกู้โลกร้อน เอกสารหลุดเผย นานาชาติร้องขอ UN ลดเป้าหมายรับมือ Climate Change
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2564 ( 15:04 )
44

สำนักข่าว BBC พบเอกสารหลุดอีกฉบับ ซึ่งพบว่าเอกสารดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอกว่า 32,000 ชิ้น จากทั้งรัฐบาล, บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไปยังเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงรายงานด้านวิทยาศาสตร์ในวิธีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ


เอกสารดังกล่าว มีเนื้อหาบางส่วนที่ระบุว่า ซาอุดิอาระเบีย, จีน และออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในเหล่าประเทศที่ขอไปยังสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อให้ลดความพยายามในการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล


เอกสารนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศกำลังตั้งคำถามถึงการจ่ายเงินให้กับประเทศที่ยากจนกว่า เพื่อให้หันไปใช้เทคโนโลยีสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


การล็อบบี้เหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ COP26 ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว ซึ่งจะเป็นเวทีที่เหล่าประเทศทั้งหลายจะประชุมร่วมกันเพื่อให้คำมั่นที่สำคัญในการชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรักษาภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส


◾◾◾

🔴 เชื้อเพลิงฟอสซิล


เอกสารหลุดนี้ พบว่ามีหลายประเทศและองค์กรที่ได้เรียกร้องว่า โลกของเราไม่จำเป็นจะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร็วเท่ากับที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน


ที่ปรึกษากระทรวงน้ำมันซาอุดิอาระเบีย เรียกร้องให้ วลีบางอย่าง เช่น "ความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วนในทุกระดับ" ควรจะถูกขจัดออกไปจากรายงานว่าด้วยการรับมือกับเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง


หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลออสเตรเลีย ปฏิเสธบทสรุปที่ว่า การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าการยุติการใช้ถ่านหินจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญในการประชุม COP26 ก็ตาม


ซาอุดิอาระเบีย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก และออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกถ่านหินอันดับต้น ๆ ของโลก


ขณะที่อีกหลายประเทศอย่าง อาร์เจนตินา, นอร์เวย์ และกลุ่มโอเปก ได้ออกแถลงการณ์ร่วม โดยนอร์เวย์ขอให้นักวิทยาศาสตร์ของ UN ควรอนุมัติให้มีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนที่จะเป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงเลย


◾◾◾

🔴 การกินเนื้อให้น้อยลง


บราซิลและอาร์เจนตินา 2 ประเทศผู้ผลิตเนื้อวัวและอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก ได้ต่อต้านหลักฐานในร่างรายงานที่ว่าให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง อันจะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้


ร่างรายงานดังกล่าว ระบุว่า "อาหารที่ทำจากพืช (plant-based diets) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเฉลี่ยจากการบริโภคของประเทศแถบตะวันตก" ซึ่งบราซิลโต้แย้งว่า รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง


ทั้ง 2 ประเทศ ได้เรียกร้องให้ผู้เขียนรายงานลบ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในรายงานที่กล่าวถึง "อาหารจากพืช" ที่มีส่วนสำคัญในการจัดการสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือการระบุว่า "เนื้อวัว" คืออาหารที่ "ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง"


ส่วนอาร์เจนตินา ก็เรียกร้องให้ข้อความในรายงานที่บอกว่า "ให้เพิ่มภาษีเนื้อแดง และ ‘ขอให้ วันจันทร์เป็นวันงดเนื้อสากล' เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนไม่กินเนื้อสัปดาห์ละ 1 วัน" ถูกลบออกไปจากรายงานนี้ด้วย


ทั้ง 2 ชาติโต้แย้งว่า มีหลักฐานว่า อาหารจำพวกเนื้อ ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่าทำได้ด้วยวิธีใด


◾◾◾

🔴 การให้เงินช่วยเหลือชาติยากจนกว่า


ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แสดงความเห็นหลายอย่าง ที่ระบุว่า ควรต้องแก้ไขเนื้อหาบางส่วนของรายงานที่ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนานั้นต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านการเงิน จากประเทศที่ร่ำรวย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ


เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่ระบุว่า การรับมือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ขึ้นกับการช่วยเหลือด้านการเงินจากภายนอก และย้ำว่านี่คือ "ความเห็นส่วนตัว"


ทั้งนี้ นี่คือหนึ่งในข้อตกลงจากการประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศที่โคเปนเฮเกน เมื่อปี 2009 ที่ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะต้องให้เงินช่วยเหลือราว 1 แสนล้านดอลลาณ์ต่อปี ให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2020 เพื่อช่วยในเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงที่เป้าหมายดังกล่าว

—————

เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: veeterzy

ข่าวที่เกี่ยวข้อง