นโยบาย "บ้านเพื่อคนไทย" การแก้ปัญหาในวันที่วิกฤตบ้านแพงทั่วโลก
TNN ช่อง16
13 ธันวาคม 2567 ( 16:49 )
47
คนรุ่นใหม่ (Gen Y และ Gen Z) หลายคนเลือกที่จะเช่าบ้านแทนการซื้อเป็นของตัวเอง เพราะราคาที่อยู่อาศัยในหลายเมืองทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกินความสามารถในการจ่ายของผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ
การที่ที่อยู่อาศัยกลายเป็นเครื่องมือการลงทุนแทนที่จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต นำไปสู่วิกฤตการณ์ระดับโลกที่รัฐบาลหลายประเทศต้องหานโยบายแก้ไข และช่วยเหลือประชาชน
---วิกฤตที่อยู่อาศัยระดับโลก---
ข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าประชากรกว่า 1,600 ล้านคนทั่วโลกไม่มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านคนภายในปี 2030
หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ UN-Habitat ชี้ว่าเพื่อให้คนทั้ง 3,000 ล้านคนมีบ้านอยู่ โลกจำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดจำนวน 96,000 หลังในทุก ๆ วัน นี่คือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และต้องการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก
ปัญหาสำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังวิกฤตนี้คือการเงินสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งเปลี่ยนบทบาทจากปัจจัยพื้นฐานทางสังคมไปเป็นเครื่องมือการลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า นี่คือสาเหตุที่ทำให้การจัดหาที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสมกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขจาก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ระบุว่า
- ในยุโรป ค่าเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% ระหว่างปี 2010 ถึง 2022 ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 48%
- ในสหรัฐฯ ที่ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่า 54% ระหว่างปี 2015 ถึง 2024
- ในจีนที่ราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน
- ในขณะที่ในฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส และกรีซ เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะแตกต่างกันไป โดยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระหว่าง 10% ถึง 15% จากปี 2010 ถึง 2022
นอกจากนี้จากข้อมูลของ Eurostat ยังชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกาและสเปน ผู้เช่า 20% ใช้จ่ายเงินมากกว่า 40% ของรายได้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เงินเดือนของประชาชนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วตามไปด้วย
---ไทยในบริบทของวิกฤตที่อยู่อาศัย---
สำหรับประเทศไทย ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยแพงเกินเอื้อมไม่ได้ต่างไปจากสถานการณ์ในระดับโลก ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ จากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่าราคาบ้านในกรุงเทพฯ เติบโตเฉลี่ย 5.4% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1.4% ต่อปี ทำให้โอกาสในการซื้อบ้านเป็นของตัวเองของคนรายได้น้อยถึงปานกลางลดลงเรื่อย ๆ
รายงานของศูนย์วิจัยกสิกร ที่ออกมาในเดือนกันยายน ปีนี้ พบว่า ในกรุงเทพฯ ราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้ครัวเรือนถึง 21 เท่า ทำให้การเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านเป็นเรื่องยาก
ตัวอย่างเช่น หากเงินเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท การจะซื้อบ้านราคา 7 ล้านบาทแทบเป็นไปไม่ได้เพราะความยากลำบากในการกู้เงินและการชำระหนี้ นโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในระดับภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกยังมีตัวเลขที่สะท้อนวิกฤตเช่นเดียวกัน ในโฮจิมินห์ ซิตี เวียดนาม ผู้คนต้องใช้เวลาถึง 25.3 ปีของรายได้ทั้งหมดเพื่อซื้อบ้าน ฮ่องกงอยู่ที่ 25.1 ปี มะนิลา ฟิลิปปินส์ 25 ปี และเซี่ยงไฮ้ จีน 23.6 ปี ขณะที่ในไทย หากคิดตามค่าเฉลี่ย คนไทยต้องใช้เวลาราว 21 ปีในการเก็บเงินซื้อบ้าน
---นโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล จากโครงการบ้านเอื้ออาทร สู่บ้านเพื่อคนไทย---
ล่าสุด ในการแถลงผลงาน 90 วันของรัฐบาลแพรทองธาร และแถลงนโยบายสำหรับปี 2568 “โอกาสไทย ทำได้จริง” ได้มีการเปิดเผยนโยบายสร้าง “บ้านเพื่อคนไทย” ช่วยผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย
นโยบายนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยมีบ้านมาก่อนหรือต้องการบ้านหลังแรก โดยมีเงื่อนไขที่น่าสนใจ เช่น ไม่มีการคิดเงินดาวน์ ค่าเช่ารายเดือนเพียง 4,000 บาท และสิทธิการเช่าระยะยาวถึง 99 ปี
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายช่วยเหลือทั้งประชาชนที่มีรายได้น้อยและนักศึกษาจบใหม่ให้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงโครงการนี้ว่า จะใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้าง และสามารถผ่อนได้นานถึง 30 ปี อยู่อาศัยได้ 99 ปี และผ่อนเดือนละ 4,000 บาท
โดยมีการเปิดตัวบ้านตัวอย่างในวันที่ 20 มกราคม 2568 และภายหลังจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนจับจองได้ เริ่มต้น 4 แห่ง ประกอบด้วย ย่านบางนา ธนบุรี เชียงราก และเชียงใหม่ ประมาณ 1,000 ยูนิต โดยเจ้าของผู้จับจองต้องอาศัยอยู่อย่างน้อย 5 ปี ถึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นอาศัยต่อได้ด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลไทยมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสร้างบ้าน 1 ล้านหลัง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือนสามารถเข้าถึงบ้านราคาประหยัดในช่วงราคา 400,000 – 700,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกในการผ่อนชำระกับธนาคารโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน
แม้จะเป็นโครงการผลักดันนโยบายที่อยู่อาศัยอย่างจริงจังสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ แต่ก็ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่เกือบทำให้การเคหะฯ ล้มละลาย มีปัญหาการส่งมอบบ้านไม่หมดยาวนาน และปัญหาอื่น ๆ
อีกทั้งคุณภาพการก่อสร้างต่ำ ที่ตั้งโครงการห่างไกลแหล่งงาน การจัดสรรที่อยู่อาศัยไม่เป็นธรรม การขาดการดูแลหลังการขาย ความไม่ยั่งยืนทางการเงินของโครงการ การนำบ้านไปปล่อยเช่าหรือขายต่อในราคาสูง และความซับซ้อนในการบริหารจัดการ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้โครงการไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ดังนั้น หากนโยบายบ้านเพื่อคนไทยถูกนำไปปฏิบัติจริงแล้ว คงต้องติดตามกันว่า จะสามารถแก้ปัญหาที่เคยเกิดจากบทเรียนของบ้านเอื้ออาทร และจะช่วงลดช่องว่างระหว่างรายได้และราคาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้จริงหรือไม่