ปิดหีบงบ’63 รายได้หลุดเป้า เสี่ยง ‘วิกฤตการคลัง’ ?

หมดปีงบประมาณ 2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาล มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายจากที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ ไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท ...การจัดเก็บรายได้ลดลง ส่งผลให้ในปีนี้รัฐบาล ต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลเพิ่มอีกกว่า 2.14 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ผลกระทบจากโควิด-19 ต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ดูแล เยียวยา ฟื้นฟู ประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากงบปกติ กว่า 1 ล้านล้านบาท
เมื่อหนี้มากขึ้น แต่รายได้ลดลง ทำให้เกิดขึ้นกังวลว่าไทยจะเสี่ยง “วิกฤตทางการคลัง” หรือไม่ เพราะล่าสุดจาก “วิกฤตโควิด-19” ทำให้ต้องพับแผน เป้าหมายงบสมดุล ที่หมายถึงประเทศมีรายรับเท่ากับรายจ่าย จากก่อนหน้านี้รัฐบาลวางเป้าหมาย“งบบสมดุล” ในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า
ล่าสุด ทั้งรัฐและเอกชน มองตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจ จะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 2-5 ปี ดังนั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอาจจะลดลงกว่าแผนที่วางไว้
จัดเก็บรายได้รัฐบาล ปีงบ 2563
สำหรับปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 รัฐบาลตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้ที่ 2.731 ล้านล้านบาท เป็นการประเมินตั้งแต่ปลายปี 2561 หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการจัดทำงบประมาณประจำปี โดยในการจัดทำงบประมาณ 2563 คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2563 ขยายตัว 3-4% แต่ผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าทำให้เศรษฐกิจหดตัวกว่า –7% ถึง- 10% กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากโควิด-19 มาหลายเดือน ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา
ล่าสุดประเมินว่า "ปิดหีบ"ในปีงบประมาณ 2563 จะต่ำกว่าเป้าหมายในเอกสารงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท
โดยตัวเลขการจัดเก็บรายได้ 11 เดือนของปีงบประมาณ 2563 ประกาศอย่างเป็นทางการจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 2.159 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ 2.93 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 12%
หากดูเฉพาะแค่กรมจัดเก็บภาษี 3 แห่ง คือ สรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร มีสัดส่วนรายได้กว่า 90%ของรายได้รัฐ พบว่าการจัดเก็บช่วง 11 เดือน ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.37 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าหมาย 13.3%
ตัวเลขอย่างเป็นทางการของทั้งปีงบประมาณ 2563 จะประกาศออกมาในช่วงปลายเดือนตุลาคม แต่ประเมินแล้วว่าน่าจะลดลงไม่น้อยกว่าตัวเลข 11 เดือน
กราฟฟิก 2เปรียบเทียบประมาณการรายได้กับรายได้ที่จัดเก็บจริง
ทั้งนี้ หากดูตัวเลขการจัดเก็บรายได้ย้อนหลัง ช่วง 10 ปี พบว่า การจัดเก็บรายได้ของไทย บางปีสูงกว่าเป้าหมาย แต่บางปีก็ต่ำกว่าเป้าหมายบ้าง แต่ไม่ต่ำมากเท่าปี 2563 ที่คาดว่าจะขาดดุลกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ทำให้เมื่อช่วงเดือนส.ค.ที่ประชุมครม.จึงมีมติให้กระทรวงการคลัง กู้เงินมาชดเชยขาด เพื่อให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอกับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน
กราฟฟิก 3 โครงสร้างงบประมาณ 2563
ในงบประมาณปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 3.2 ล้านล้านบาท กำหนดเป้าหมายรายรับที่ 2.731 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยขาดดุลรอบแรก 4.69 แสนล้านบาท แต่เมื่อรายได้ลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ต้องกู้เงินชดเชยขาดดุลเพิ่มอีกรอบที่สองเป็นเงิน 2.14 แสนล้านบาท รวมกู้เงินชดเชยขาดดุล 6.83 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การกู้เงินชดเชยขาดดุลครั้งล่าสุด กระทวงการคลังยืนยันว่า เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้สภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่าย จึงจำเป็น ต้องดำเนินการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revennue Shotfall)
และเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 7 มาตรา 21(1) และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ กำหนดกรอบการเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น
ถ้าดูตามกรอบดังกล่าว ถือว่ารัฐบาลกู้เงินกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วที่ 6.83 แสนล้านบาท
กราฟฟิก 4 ฐานะเงินคงคลังย้อนหลัง 5 ปีงบประมาณ
ทั้งนี้ การกู้เงินขาดดุลเพิ่มเติม 2.14 แสนล้านบาท เพื่อรักษาระดับเงินคงคลังไม่ให้ต่ำจนไม่มีเงินไปเบิกจ่าย ถือเป็นความจำเป็น เนื่องจากปกติเงินคงคลังในช่วงสิ้นปีงบประมาณ หากเป็นระดับสบายใจได้ ควรมีในระดับไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท เพราะต้องสำรองไว้ให้หน่วยราชการเบิกจ่าย
เงินคงคลัง เปรียบเสมือนเงินใน "กระเป๋า" ของรัฐบาล ถ้าเหลือน้อย อาจจะมีปัญหา ไม่เพียงพอกับการเบิกจ่าย และจะทำให้เกิดข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพในการการบริหารเงินของรัฐบาล
จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง (กราฟฟิก) พบว่า เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายน ย้อนหลัง 5 ปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นมาจะไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เงินคงคลัง "ต่ำสุด" เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปีงบประมาณ 2550 ซึ่งเงินคงคลังเหลือเพียง 1.42 แสนล้านบาท
และก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาเงินคงคลังลดลงต่ำมากในช่วงเดือนธันวาคม 2559 หลังเหตุการณ์ทางการเมือง เงินคงคลังในช่วงนั้นเหลือหลือเพียง 74,907 ล้านบาท ทำให้จำนวนเงินคงคลัง กลายเป็นกระแสวิพากวิจารณ์ เพราะมีความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดวิกฤตทางด้านการคลัง หลังจากนั้น กระทรวงการคลัง พยายามบริหารเงินคงคลังไม่ได้ต่ำจนเกินไป
สำหรับในปีนี้หากไม่กู้เพิ่มอีก 2.14 แสนล้านบาท มีแนวโน้มจะได้เห็นเงินคงคลังต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่การกู้เพิ่มก็มาพร้อมกับภาระหนี้ที่สูงขึ้นด้วย
ส่วนในปี 2564 สำนักบริหารหนี้ หรือ สบน. คาดว่าหนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 57% ต่อจีดีพี ซึ่งรัฐบาลมองว่ายังไม่เกิน 60% ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
แต่ล่าสุด กระทรวงการคลังแย้มว่า มีแนวโน้มจะพิจารณาขยายกรอบวินัยการเงินการคลังให้สูงขึ้นหรือไม่ โดยจะมีการตัดสินใจในช่วงปี 2564 หากไทยจำเป็นต้องกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาจจะต้องขยายกรอบวินัยการเงินการคลังสูงกว่าที่กำหนดไว้ 60%
กราฟฟิก 6 เป้าหมายงบสมดุล
จากภาวะเศรษฐกิจและสถานะการคลังที่กล่าวมา (รายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่ม) ทำให้กระทบกับเป้าหมายการจัดทำ "งบประมาณแบบสมดุล" ในปี 2573 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ในปี 2562 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายจัดทำงบสมดุลในปี 2573 ภายใต้สมมติฐานภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ 3-4% โดยตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลลง และมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะยาว แต่สถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยติดลบ และอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจถึงจะกลับสู่ระดับปกติ ดังนั้น จึงคาดการณ์กันว่ารัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจจากนี้ไปไม่ต่ำกว่าปีละ 4-6 แสนล้านบาท
ชมคลิปเต็มได้ที่ รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคาร 29 กันยายน 2563
https://www.youtube.com/watch?v=Wq67cteKKC4
นายลวณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุถึงเรื่องเป้าหมายงบสมดุลปี 2573 จะเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้าว่า คงต้องชะลอไปก่อน โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังโควิด-19 จบลงแล้ว ว่าจะเดินไปสู่งบสมดุลใหม่ในอีกเมื่อไหร่
ต้องพิจารณาว่าโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อไทยมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายใช้เงินเท่าไหร่ในการเข้าไปดูแล เมื่อรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบขาดดุล เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจ ดังนั้นเป้าหมายงบสมดุลคงยังไม่จำเป็นต้องเดินไปตามแผน
ชมคลิปเต็มได้ที่ รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคาร 29 กันยายน 2563
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE