แว่นตาโซนาร์อัจฉริยะ จับการเคลื่อนไหวบนใบหน้า เพื่อสื่อสารแบบไร้เสียงพูด
นักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ได้พัฒนาแว่นตาที่ติดตั้งระบบโซนาร์ ไมโครโฟนขนาดเล็กและลำโพงเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของใบหน้า ทำให้แว่นตานี้สามารถรับคำสั่งการแบบไร้เสียงได้ เช่น สั่งให้เพลงหยุดชั่วคราว เล่นเพลงถัดไป หรือป้อนรหัสผ่านโดยที่ไม่ต้องสัมผัสโทรศัพท์ และทำงานบน CAD Models ได้โดยที่ไม่ต้องใช้แป้นพิมพ์
แว่นตาโซนาร์อัจฉริยะนี้ ถูกคิดค้นขึ้นโดย รุ่ยตง จาง (Ruidong Zhang) นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) เขาได้พัฒนาต่อยอดแว่นตานี้ขึ้นมาจากโปรเจกต์เดิมที่คล้ายคลึงกันแต่มีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ชุดคำสั่งที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และต้องสวมใส่กล้องหรือหูฟังในขณะที่ใช้งาน จึงทำให้ไม่สะดวกนักสำหรับการใช้งานจริง การพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะครั้งนี้จึงได้มีการออกแบบฮาร์ดแวร์เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากล้องตลอดเวลาหรือใส่หูฟังอีกต่อไป
นักวิจัยกล่าวว่าในการใช้งานแว่นตาครั้งแรก ระบบจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเพื่อเรียนรู้รูปแบบการพูดของผู้ใช้ จากนั้นเมื่อแว่นตาพร้อมทำงานก็จะส่งและรับคลื่นเสียงผ่านใบหน้ารวมถึงตรวจจับการเคลื่อนไหวของปากโดยใช้อัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning Algorithm) เพื่อวิเคราะห์เสียงสะท้อนแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำถึงประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สิ่งประดิษฐ์นี้สามารถควบคุมการเล่นเพลงโดยการสั่งการแบบไร้เสียง แบบไม่ต้องสัมผัสและมองหน้าจอ เหมาะสำหรับใช้งานในสถานที่ที่ต้องการความเงียบสงบ เช่น ห้องสมุด หรือในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังจนไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูด ที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ แว่นตาอัจฉริยะนี้อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการพูด โดยสามารถป้อนบทสนทนาเข้าไปในเครื่องสังเคราะห์เสียงเพื่อสื่อสารบทสนทนาที่ต้องการให้ผู้อื่นได้ยินผ่านทางอุปกรณ์ดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นแว่นตาโซนาร์ยังสามารถประมวลผลข้อมูลและส่งไปยังสมาร์ตโฟนได้แบบไร้สาย โดยเวอร์ชันปัจจุบันมีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ประมาณ 10 ชั่วโมง และยังมีความปลอดภัยสูง หมดกังวลเรื่องข้อมูลจะรั่วไหลออกจากโทรศัพท์ ด้วยความที่อุปกรณ์ชิ้นนี้มีขนาดเล็ก ใช้พลังงานต่ำและมีความเป็นส่วนตัว จึงเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมนำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน
ขณะนี้ทีมงานได้วางแผนที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านการระดมทุนของมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) พวกเขายังวางแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานร่วมกับแว่นตาอัจฉริยะสำหรับติดตามการเคลื่อนไหวของใบหน้า ดวงตา และร่างกายส่วนบน เป็นที่น่าจับตาว่าเทคโนโลยีแว่นตาโซนาร์นี้จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มส่วนบุคคลที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ได้มากขึ้น
ที่มาของข้อมูล Engadget
ที่มาของรูปภาพ Cornell University