รีเซต

แพทย์เตือนห้ามดื่มน้ำปลาร้าเสี่ยงไตวาย-หัวใจล้มเหลว

แพทย์เตือนห้ามดื่มน้ำปลาร้าเสี่ยงไตวาย-หัวใจล้มเหลว
TNN ช่อง16
22 มิถุนายน 2565 ( 20:48 )
128

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีมี ยูทูบเบอร์ นำ "น้ำปลาร้า" มายกซดเหมือนเครื่องดื่ม จนเกิดความเป็นห่วงพฤติกรรมเลียนแบบว่า ปลาร้า เป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง จึงไม่ควรนำมาดื่ม เพราะกระบวนการทำ "น้ำปลาร้า" ผ่านการหมักด้วยเกลือ รำข้าว และถูกแต่งเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น กะปิ หรือเพิ่มปริมาณด้วยการใส่น้ำเกลือต้ม 


นอกจากนี้ผู้จำหน่ายปลาร้ามักจะดัดแปลงเป็นสูตรเฉพาะร้าน ให้ได้กลิ่น รส ตามความต้องการเพิ่ม การกิน ปลาร้า "น้ำปลาร้า" มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังได้ 


นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรสของปลาร้าแต่ละชนิดทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ และตลาด พบว่า มีปริมาณโซเดียมอยู่ในระดับที่สูงทั้งหมด และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร 


ทั้งนี้ ยังมีผลการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า การลดบริโภคเกลือลงเหลือเพียง 3 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรลดเหลือเพียง 3 ส่วน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมเพื่อให้ไตมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง 


 


ที่มา  กรมอนามัย 

ภาพประกอบ  กรมอนามัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง