สรุป 5 แนวทาง “รัฐบาลไทย” เจรจา “ภาษีสหรัฐฯ”

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา 9 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยจะมีกำหนดการเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯในวันที่ 23 เม.ย.68
ซึ่งที่ผ่านมาคณะเจรจาของไทยได้ร่วมหารือ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเจรจาเกี่ยวกับภาษีสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบจากมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯที่มีต่อไทย และเดินหน้าขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนเพิ่มเติม โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางในการเจรจาทั้ง 5 แนวทาง ประกอบไปด้วย
1. การเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ โดยไทยเตรียมพิจารณานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบที่ภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แต่ผลิตไม่ได้เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี LNG ธัญพืช หรือเครื่องบินพาณิชย์ เพื่อเติมเต็ม supply chain ของประเทศ รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยเป็น Net Importer อาทิ ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ลซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้ลดการได้เปรียบดุลการค้า
2. การเปิดตลาดและบริหารจัดการด้ารภาษี ลดอุปสรรคทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และบริหารโควตาสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด เพื่อเปิดตลาดในลักษณะที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยจัดสรรการนำเข้าเฉพาะช่วงที่สินค้าในประเทศขาดแคลน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมและยืดหยุ่นต่อทุกฝ่าย และการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐฯ เกื้อหนุนกัน โดยรัฐบาลไทยเห็นว่าความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพร่วมกัน
3. การลดขั้นตอน และวิธีการทางภาษี ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ Non-Tariff Barriers ที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างไทย และสหรัฐฯ บนพื้นฐานของความต้องการขยายการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ
4.การตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยรัฐบาลตระหนักถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าราคาต่ำจากประเทศที่สามผ่านไทย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี จึงจะมีมาตรการคัดกรองสินค้าต้นทาง ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้โปร่งใสและเป็นไปตามหลักสากล สร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้าที่มีธรรมาภิบาล
5.การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ไทยยังมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐฯ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกาไปยังตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ยังช่วยลดแรงต้านด้านการค้าและสร้าง value chain ใหม่ที่เข้มแข็ง