‘นพ.ยง’ห่วงสตรีมีครรภ์ติดโควิดเสี่ยงทั้งแม่-ลูก แนะศึกษาวัคซีนก่อนฉีด
วันนี้ ( 30 มี.ค. 64 )นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” ระบุว่า
โควิด-19 วัคซีน กับสตรีตั้งครรภ์
สตรีตั้งครรภ์ถ้าป่วยเป็นโรคโควิค 19 จะมีความรุนแรงกว่าคนปกติและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และมารดา ทั้งนี้เพราะสตรีตั้งครรภ์ภูมิต้านทานจะต่ำลง และท้องจะดันส่วนอกทำให้การขยายตัวของปอดได้น้อยลงเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด 19 จึงมีความรุนแรง
ในการศึกษาวัคซีนโควิค 19 ไม่ได้มีการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์เพราะเป็นกฎเกณฑ์ของยาใหม่หรือวัคซีนใหม่ในการศึกษาขั้นต้นจะไม่รับอาสาสมัครที่ตั้งครรภ์
ในชีวิตจริงมีหลายโรคโรคติดเชื้อที่เกิดในสตรีตั้งครรภ์แล้วอาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นกว่าคนปกติเช่นไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการให้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ์เพื่อให้มีภูมิต้านทานป้องกันทารกเช่นการให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักและ โรคไอกรน เพื่อป้องกันทารก ก็สามารถให้ได้
ในทำนองเดียวกันวัคซีนป้องกันโควิค 19 ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการให้ในสตรีตั้งครรภ์ เริ่มมีการเก็บข้อมูลที่ให้ในสตรีตั้งครรภ์ในชีวิตจริงของการให้วัคซีนโควิค 19 ที่ผ่านมา อีกไม่นานก็คงจะมีข้อมูลมากขึ้น และเชื่อว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายทั้งหลาย น่าจะให้ได้ในสตรีตั้งครรภ์เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ดังนั้นในขณะนี้จึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการให้วัคซีนโควิค 19 กับโอกาสเสี่ยงถึงอาการแทรกซ้อนของวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเช่นอยู่ในแหล่งระบาดสูงหรือทำงานที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย ก็ควรนำมาพิจารณาถึงประโยชน์และอันตรายที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ถ้าประโยชน์มีมากกว่าก็ควรจะได้รับวัคซีน ถ้าสตรีตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่ำก็ควรรอการให้วัคซีนไปก่อน
ในทำนองเดียวกันการให้วัคซีนทั่วไปไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจว่าตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ และการให้วัคซีนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิด เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็สามารถที่จะเลื่อนเข็มต่อไปได้จนกว่าจะคลอดแล้วค่อยให้ ในทำนองเดียวกันคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร ก็เช่นเดียวกัน ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงของวัคซีน เพราะไม่ได้เป็นข้อห้ามเด็ดขาด