รีเซต

สงครามอวกาศคืออะไร ในวันที่สมรภูมิรบกำลังขยายสู่นอกโลก

สงครามอวกาศคืออะไร ในวันที่สมรภูมิรบกำลังขยายสู่นอกโลก
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2567 ( 10:55 )
25
สงครามอวกาศคืออะไร ในวันที่สมรภูมิรบกำลังขยายสู่นอกโลก

จำได้ไหมว่า ตอนกองทัพรัสเซียบุกยูเครนในช่วงแรก ๆ นั้น มีการใช้การโจมตีไซเบอร์ ไปยังโครงข่ายดาวเทียม เพื่อตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และมันเกิดขึ้นเพียงชั่วโมงเดียว ก่อนทหารภาคพื้นดินรัสเซียจะบุกเข้าไปในยูเครน เมื่อ ก.พ. 2022 


การโจมตีเครือข่ายดาวเทียมของยูเครน ยังส่งผลแบบโดมิโนไปยังกังหันพลังลมในเยอรมนี และตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตคนอีกหลายหมื่นทั่วยุโรป


จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดาวเทียมมีบทบาทสำคัญต่อปฏิบัติการทางทหาร การสื่อสาร และการตรวจจับอาวุธที่ยิงเข้ามาโจมตีอย่างไร และจึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลนานาประเทศกำลังพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเตะตัดขา หรือทำลายแสนยานุภาพของอริศัตรู ไม่เพียงภาคพื้นดิน แต่รวมถึงในอวกาศด้วย ถึงระดับที่ CNN ใช้คำว่า “สงครามเย็นบนอวกาศ”


ไม่ว่าจะการแทรกแซงสัญญาณดาวเทียม การยิงเลเซอร์พลังสูงไปขัดขวางระบบเซนเซอร์ภาพ ขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม และยานอวกาศที่มีแสนยานุภาพแทรกแซงกับยานอวกาศลำอื่นในห้วงอวกาศ 


ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงนักวิชาการ ชี้ว่า สมรภูมิในอวกาศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน กำลังรุนแรงมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปยังดาวเทียมของอีกฝ่าย 


ตัวอย่างที่เด่นชัดคือช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า รัสเซียพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อต้านดาวเทียม สำหรับใช้ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียปฏิเสธ 


แต่ถ้ามันมีจริง ๆ การทำลายดาวเทียมสักดวงในอวกาศ ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าแค่ทางการทหาร เพราะวงโคจรของเรา เต็มไปด้วยดาวเทียมที่ประชาชนทั่วไปต่างพึ่งพา ไม่ว่าจะทำนายสภาพอากาศเพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ ดาวเทียมที่ช่วยระบบการนำทาง ไปจนถึงการธนาคาร เส้นทางขนส่งทางเรือ แอปพลิเคชันเรียกรถ และอื่น ๆ อีกมากมาย


ข้อมูลจากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้มีความกังวล Union of Concerned Scientists (UCS) ในปี 2023 ชี้ว่า มีดาวเทียม 7,500 ดวงที่ยังอยู่ในการใช้งาน โคจรอยู่รอบโลก ในจำนวนนี้เป็นดาวเทียมสัญชาติสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเพื่อการพาณิชย์


รองลงมาคือจีน มีดาวเทียม 628 ดวง และรัสเซีย 200 ดวง 


สัปดาห์ก่อน ข่าวใหญ่หนึ่งของโลก คือ การที่สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่าได้ปล่อยดาวเทียมที่มีศักยภาพโจมตีดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในระดับวงโคจรต่ำ ก่อนหน้านั้นในปี 2019 และ 2022 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็กล่าวหารัสเซียว่า ปล่อย “ระบบต่อต้านในห้วงอวกาศ” ขึ้นไปแล้ว


---การแข่งขันใน “ห้วงอวกาศ”---


ยิ่งภูมิรัฐศาสตร์โลกร้อนแรง อวกาศที่เย็นยะเยือกก็ระอุขึ้นมาไม่แพ้กัน ตอนนี้ เป็นการชิงชัยแข่งขันของ 3 ประเทศหลัก คือ สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย 


จินตนาการว่า มีดาวเทียมติดอาวุธทำลายล้าง ลอยอยู่บนอวกาศ และพร้อมจะยิ่งจรวดใส่เป้าหมายเราได้ทุกเมื่อ


มันไม่ใช่พล็อตในหนังอวกาศ หรือหนังไซไฟ แต่เมื่อหลายทศวรรษก่อน สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขจัดดาวเทียมของศัตรู 


แต่พอสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้สงคราม อเมริกาก็ดูเหมือนจะเป็นเจ้าสมรภูมิอวกาศไป แต่เวลานี้ รัสเซีย และจีน ต่างก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีของตน ไม่ให้สหรัฐฯ ล้ำหน้าไปไกลนัก


รายงานประจำปีของมูลนิธิซีเคียวเวิลด์ เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เชื่อว่า รัสเซียได้ปัดฝุ่งโครงการวิจัยต่อต้านดาวเทียมสมัยสงครามเย็นกลับมา อาทิ ระบบเลเซอร์ต่อต้านอากาศยาน เพื่อใช้แทรกแซงระบบเซนเซอร์ตรวจจับภาพของดาวเทียมสังเกตการณ์ เป็นต้น 


แล้วยังเช่ือว่า รัสเซียกำลังขยายแสนยานุภาพการสงครามอิเลกทรอนิกส์ ด้วยเทคโนโลยีในอวกาศที่จะช่วยแทรกแซงสัญญาณดาวเทียมในวงโคจรได้ ไม่เพียงเท่านั้น รัสเซียยังได้ส่งยานอวกาศที่ดูเหมือนจะสามารถสังเกตการณ์ดาวเทียมของศัตรูได้ด้วย 


---แล้วแดนมังกรล่ะ ?---


จีนนั้นได้ประกาศเป้าหมายในห้วงอวกาศเมื่อปี 2007 ด้วยการยิงขีปนาวุธไปทำลายดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศที่เก่าแก่ของตน นับแต่นั้น ก็เชื่อว่าจีนได้ทดสอบขีปนาวุธแบบ “ไม่ทำลายล้าง” อีกหลายครั้ง เพื่อเพิ่มแสนยานุภาพการทำลายเป้าหมายที่แม่นยำมากขึ้น 


กองทัพอเมริกันยังเชื่อว่า จีนกำลังพัฒนาอุปกรณ์ตัดสัญญาณที่พุ่งเป้าไปที่ดาวเทียมสื่อสารในขอบเขตที่กว้างขวาง อีกทั้งยังครอบครองระบบเลเซอร์ภาคพื้นดินอีกหลายแห่งอีกด้วย  


จีนยังมีดาวเทียมที่ติดตั้งอุปกรณ์แขนจักรกล ที่สามารถเคลื่อนเข้าหาดาวเทียมอื่น ๆ ในวงโคจร เพื่อทำการซ่อมแซมหรือซ่อมบำรุง แต่สหรัฐฯ มองว่า แขนจักรกลนี้อาจนำไปใช้ในทางการทหารได้ เพราะมันสามารถเปลี่ยนเส้นทางโคจร หรือตรวจสอบดาวเทียมดวงอื่น ๆ อย่างละเอียดได้ ถือเป็น “แสนยานุภาพต้านดาวเทียม” ต้านดาวเทียมแบบหนึ่ง


ที่สำคัญที่สุด สหรัฐฯ ได้ก่อตั้ง “กองกำลังอวกาศ” เมื่อปี 2019 แต่ไม่กี่ปีมานี้ รัสเซียและจีนก็ได้ตั้งหน่วยงานหรือกองกำลัง สำหรับการปฏิบัติการในอวกาศโดยเฉพาะเช่นกัน 


นิวเคลียร์... เคลียร์ดาวเทียม


การยิงเลเซอร์ใส่ ใช้อุปกรณ์ตัดสัญญาณ หรือเอาแขนกลไปเปลี่ยนวงโคจรดาวเทียม อาจไม่น่ากังวลเท่า การยิงระเบิดนิวเคลียร์ทำลายดาวเทียมแบบหว่านแห และไม่เลือกหน้า


ตง เจ้า นักวิจัยอาวุโสของ กองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ระบุว่า หากมีการจุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์ทำลายดาวเทียมในวงโคจร จะก่อให้เกิดขยะอวกาศมหาศาล และผลกระทบด้านกัมมันตภาพรังสี ที่จะทำให้การโคจรรอบโลกทางการทหารและทางพลเรือน ทำไม่ได้อีกเป็นเวลานาน และมันจะถือเป็นการทำให้มนุษยชาติก้าวถอยหลัง จากเดิมที่สงวนอวกาศเป็นพื้นที่ส่วนรวมเพื่อการพัฒนาของมนุษย์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง