รีเซต

อีวีจดทะเบียนพุ่ง137% EA-HANAเร่งต่อยอด

อีวีจดทะเบียนพุ่ง137% EA-HANAเร่งต่อยอด
ทันหุ้น
24 มีนาคม 2565 ( 06:13 )
362
อีวีจดทะเบียนพุ่ง137% EA-HANAเร่งต่อยอด

#EA #HANA #ทันหุ้น - ส.อ.ท.โชว์เลขจดทะเบียนอีวี ก.พ.พุ่ง137% ฟาก EA ขยายต่อทุ่มเงิน 3 พันล้านบาท ซื้อหุ้นสมาร์ทบัส ขึ้นแท่นผู้บริการรถโดยสารประจำทางรายใหญ่ 37 สาย 1.2 พันคัน ธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำสู่ปลายน้ำ หนุนอีโคซิสเต็มสมบูรณ์ เล็งขยายโรงงานแบตเตอรี 4 GWh รับดีมานด์เพิ่ม ด้าน HANA ลุย SIC รับอนาคตธุรกิจอีวี

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงาน จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี (BEV) จดทะเบียนใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 873 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 137.23% ทั้งนี้ในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2565 BEV  จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 1,501 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 102.56%

 

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 5,363 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 35.81% อย่างไรก็ดี เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 มียานยนต์ HEV  จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 9,718 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 16.09%

 

พร้อมกันนี้ มีรถประเภทปลั๊กอิน-ไฮบริด (PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 957 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 50.4 %

 

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมสิ้นกุมภาพันธ์ 2565 ประเภท BEV มีจำนวนทั้งสิ้น 12,869 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 103.11% ส่วน HEV มีจำนวนทั้งสิ้น 206,177 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 21.61% และ PHEV มีจำนวนทั้งสิ้น 32,817 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30.17%

 

@EAขนส่งมวลชนรายใหญ่

 

ขณะที่ นายอมร  ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EAเปิดเผยว่า ได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัมปทานการเดินรถรวม 37 สาย สูงสุดกว่า 1,200 คัน มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ผ่านบริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ เพื่อนำรถโดยสารไฟฟ้าที่บริษัทผลิตได้เองมาวิ่งให้บริการในกรุงเทพฯ ให้ประชาชนไทยได้ใช้รถโดยสารที่ทันสมัยและไร้มลพิษอย่างเป็นรูปธรรม โดยการลงทุนในบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด จะทำให้บริษัทมีธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มีเครือข่ายรถโดยสารประจำทาง ที่แข็งแรงขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อมต่อรถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้าของบริษัทตามนโยบายของรัฐบาลอย่างครบวงจร

 

@ขยายโรงงานเป็น 4 GWh

 

ปัจจุบัน EA มีโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการให้บริการดูแลซ่อมบำรุงหลังการขายที่ครบวงจร พร้อมทั้งมีโรงงานผลิตแบตเตอรีลิเทียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน ซึ่งสามารถผลิตแบตเตอรีลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าได้เองครบทุกกระบวนการด้วยกำลังการผลิตในระยะเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนให้กับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของบริษัท ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry และรถบรรทุกไฟฟ้า อีกทั้งบริษัทยังเตรียมขยายโรงงานแบตเตอรีเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 GWh ที่สามารถรองรับการใช้งานภายในกลุ่มบริษัทเท่านั้น  ทั้งนี้ปัจจุบันเริ่มมีการสั่งเครื่องจักรไปแล้ว และอนาคตหากมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะขยายในส่วนของโรงประกอบรถไฟฟ้าที่ดำเนินผ่านบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB) ด้วย

 

นอกจากนี้บริษัท มีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้รองรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเทคโนโลยี Ultra Fast Charge ที่ทันสมัยที่สุด ที่ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ที่มีชื่อว่า EA Anywhere โดยบริษัทมุ่งหวังยกระดับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมไร้คาร์บอนอย่างจริงจัง

 

@HANA ลุยชิ้นส่วนรถอีวี

 

ขณะที่ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA แจ้งว่า บริษัทได้เดินหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี Silicon & SiC (ซิลิคอนคาร์ไบด์) ในอุตสาหกรรมการจัดการพลังงานของบริษัทเพาเวอร์มาสเตอร์เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด (Power Master Semiconductor Co., Ltd.) หรือ PMS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ HANA

 

โดยธุรกิจนี้จะต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ IC Assembly & Test ที่มีอยู่เดิมของบริษัท เพื่อก้าวสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV Car) และอุปกรณ์เครื่องชาร์จพลังงาน (EV Charger) รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการด้านพลังงาน ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่า จะมีการติดตั้งสายการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ชุดแรกภายในต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2565 โดยผลิตภัณฑ์จะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี2565 หรือต้น ปี2566 ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ประมาณการณ์ว่า จะเพิ่มรายได้จากการขายของบริษัท สำหรับธุรกิจ IC Assembly & Test ได้ประมาณ 15-20% ในอีก 3 ถึง 4 ปี ข้างหน้า

 

ด้านนายมงคล  พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ชอบการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ในส่วนของ SIC ของ HANA ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ EV Car ในช่วงแรกของการลงทุนในปี 2565 จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ส่งผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท แต่เชื่อว่าในอนาคตหากธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต หลักของบริษัทได้ดีทั้งในส่วนของรายได้ และอัตรากำไรขั้นต้น ยังชอบแนวโน้มการเติบโตระยะยาวของบริษัทที่จะเน้นไปในธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงจากธุรกิจ SiC ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวของกับ EV Car โดยตรง ประเมินราคาหมายที่ 70 บาท คาดการณ์กำไรปี 2565 ที่ 2,287 ล้านบาท เติบโต 48%  จากปีก่อนที่ 1,545 ล้านบาท

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง