รีเซต

กทม. พร่องน้ำในคลองเตรียมรับมือฝนตกหนัก - น้ำเหนือยังไม่กระทบกรุงฯ

กทม. พร่องน้ำในคลองเตรียมรับมือฝนตกหนัก - น้ำเหนือยังไม่กระทบกรุงฯ
TNN ช่อง16
10 กันยายน 2567 ( 07:48 )
18
กทม. พร่องน้ำในคลองเตรียมรับมือฝนตกหนัก - น้ำเหนือยังไม่กระทบกรุงฯ

ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำเหนือ ล่าสุด  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานถึงปริมาณน้ำเหนือส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ แต่กทม. ก็พร้อมรับมือ โดยการวางแนวกระสอบทรายในจุดเสี่ยงน้ำท่วม และจุดฟันหลอริมแนวคันกั้นน้ำแล้ว 


ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการให้ กทม.เพิ่มแนวกระสอบทรายที่จุดใด ก็สามารถมาแจ้งที่สำนักงานเขตพื้นที่ได้ ซึ่งกทม. เตรียมพร้อมกระสอบทรายไว้กว่า 2 ล้านใบ และมั่นใจว่าสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำเหนือได้


สำหรับสิ่งที่ควรกังวลในช่วงนี้ และเดือนหน้า คือสถานการณ์น้ำฝนที่อาจมีฝนตกหนักในกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม.พร้อมรับมือด้วยการพร่องน้ำในคลองต่าง ๆ และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั๊มน้ำให้ใช้การได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงอาจมีประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบจากการพร่องน้ำในคลองต่าง ๆ เพราะน้ำอาจมีกลิ่นบ้าง


ในส่วนของข้อกังวลที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำอาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้นั้น ยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำจริง โดยดูได้จากประตูระบายน้ำพระโขนง ที่เป็นส่วนสำคัญในการรักษาระดับน้ำในกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันระดับน้ำทะเลขึ้นสูงกว่ากรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากรุงเทพฯ สามารถรับมือได้ด้วยระบบประตูระบายน้ำ

อย่างไรก็ดี ต้องวางแผนถึงอนาคตหากปัญหาน้ำทะเลยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 


ดังนั้น ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมกรุงเทพฯ เช่น อาจจะทำแนวกั้นน้ำขนาดใหญ่แบบแม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน แต่การดำเนินการได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันในระดับรัฐบาล เพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นนทบุรี ไม่ใช่เพียงกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว


สำหรับปัญหาที่เขตบางขุนเทียนในปัจจุบัน เป็นคนละปัญหากับเรื่องของระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่เป็นเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งกว่า 1 กิโลเมตร เนื่องจากบางขุนเทียนเป็นพื้นที่ติดทะเลชายฝั่งอ่าวไทย จึงเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่ง กทม. มีโครงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการทำเขื่อนป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลที่ชายหาดบางขุนเทียน ซึ่งได้รับงบประมาณแล้วแต่อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตจากรัฐบาล เนื่องจากต้องขออนุญาตก่อสร้างบนพื้นที่ป่าชายเลน ประมาณ 2-3 กิโลเมตร เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายทะเลบางขุนเทียนได้


นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนในอนาคตการรับมือน้ำที่ขึ้นมาจากทะเลนั้น กทม. อาจรับมือด้วยการยกแนวถนนริมทะเลให้สูงขึ้นเป็นคันกั้นน้ำ เช่น แนวถนนสุขุมวิทสายเก่า ถนนบางขุนเทียนชายทะเล เป็นต้น


ข้อมูลจาก: กรุงเทพมหานคร 

ภาพจากกรุงเทพมหานคร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง