รีเซต

‘สยามเทคนิคคอนกรีต’ เคาะราคาไอพีโอ 2.78 บาทต่อหุ้น เปิดจอง 13-16 ก.ค.นี้

‘สยามเทคนิคคอนกรีต’ เคาะราคาไอพีโอ 2.78 บาทต่อหุ้น เปิดจอง 13-16 ก.ค.นี้
มติชน
13 กรกฎาคม 2564 ( 06:12 )
67
‘สยามเทคนิคคอนกรีต’ เคาะราคาไอพีโอ 2.78 บาทต่อหุ้น เปิดจอง 13-16 ก.ค.นี้

 

นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมสายงานวาณิชธนกิจ – ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำการเสนอขายหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า STECH ได้กำหนดราคาเสนอขายเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 203,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 2.78 บาท กำหนดเปิดให้จองซื้อหุ้นไอพีโอ วันที่ 13-16 กรกฎาคมนี้ และกำหนดวันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 23 กรกฏาคม 2564 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ“STECH” เข้าเทรดในกลุ่ม​อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจวัสดุก่อสร้าง

 

 

การกำหนดราคาไอพีโอที่ 2.78 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 14.14 เท่า โดยคำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นจากกำไรสุทธิตามงบการเงินของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้  ทั้งนี้ ในปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง  ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นจากภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากงานโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศของภาครัฐที่เป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่จะทยอยออกมาค่อนข้างมาก ทำให้ในปัจจุบันค่าเฉลี่ย P/E ของบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนปัจจัยบวกด้านอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง

 

 

นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำการเสนอขายหลักทรัพย์ กล่าวเสริมว่า กำหนดราคาไอพีโอในครั้งนี้ ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ STECH ด้วยผลประกอบการที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต สอดรับกับภาพรวมการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว และมีความชัดเจน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการเป็นเบอร์หนึ่ง ในแง่ของโรงงานที่มีครอบคลุมหลายภูมิภาค ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับงานเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะทยอยประกาศออกมาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและงานสาธารณปโภคของประเทศ ด้วยต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และน่าสนใจในการลงทุน

 

 

นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด
ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า STECH เป็นหุ้นคอนกรีตอัดแรงที่อยู่ในใจของลูกค้ามาอย่างยาวนาน ด้วยจุดเด่น ผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญ และอยู่ในวงการมากว่า 35 ปี พร้อมทั้ง กลยุทธ์ มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านคอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันมีโรงงานคอนกรีตอัดแรงมากถึง 9 แห่ง และจะขยายเป็น 10 แห่งในสิ้นปีนี้ และ 11 แห่งในปี 2567 สะท้อนการเป็นหุ้นเติบโตแบบ Growth Stock ประกอบกับนโยบายการจ่ายปันผลที่ดีในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% 

 

 

ขณะที่ ผลประกอบการมีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปี (ปี 2561 -​2563) อยู่ที่ 85.74 ล้านบาท 93.23 ล้านบาท และ 140.60 ล้านบาทตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 4.75 ร้อยละ 5.44 และร้อยละ 9.07 ตามลำดับ ขณะที่ รายได้รวมอยู่ที่ 1,804.54 ล้านบาท 1,712.83 ล้านบาท และ 1,550.33 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน และมุ่งเน้นการเติบโตของกำไรเป็นสำคัญ

 

 

แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีกำไรสุทธิในงวด 3 เดือนแรกของปี 2563 – 2564 จำนวน 30.98 ล้านบาท และ 32.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 7.51 และร้อยละ 8.23 ตามลำดับ มีรายได้รวมอยู่ที่ 412.42 ล้านบาท และ 399.90 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ปัจจุบัน มีงานในมือ (Backlog)​ เติบโตแข็งแกร่ง

 

 

ด้านนายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด  (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จำนวนประมาณ 550 ล้านบาท(หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) จะนำไปใช้ขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรง ประมาณ 298 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดชลบุรี สาขา 2 ประมาณ 58 ล้านบาท ภายในปี 2564 โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานดอนพุด 45 ล้านบาท ภายในปี 2565 โครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 80 ล้านบาท ภายในปี 2566 โครงการซื้อรถขนส่งผลิตภัณฑ์คอนกรีต 50 ล้านบาท ภายในปี 2564 และโครงการซื้อเครื่องกดกันสั่นสะเทือน 65 ล้านบาท ภายในปี 2564 

 

 

นอกจากนี้ ใช้สำหรับโครงการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 10 ล้านบาท และใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน 220 ล้านบาท รวมทั้ง นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ 22ล้านบาท ภายในปี 2564

 

 

มั่นใจ บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่ไม่หยุดนิ่งในการเติบโต พร้อมนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิต รองรับความต้องการของลูกค้าในงานคอนกรีตอัดแรง ได้แก่ เสาเข็ม เสาไฟฟ้า เสาเข็มสปัน ผลิตภัณฑ์คานสะพาน เป็นต้น พร้อมให้บริการขนส่ง ตอกเสาเข็ม รวมถึงรับเหมาออกแบบจัดหา พร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง และรับเหมาติดตั้งระบบสายส่งแรงสูง (115 kV) ประกอบกับความพร้อมในการเข้าประมูลงาน จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง