รีเซต

ยูเครน: โดรนจากตุรกีกำลังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก

ยูเครน: โดรนจากตุรกีกำลังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก
ข่าวสด
11 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:47 )
102
ยูเครน: โดรนจากตุรกีกำลังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก

การใช้โดรนในการรบกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในความขัดแย้งทั่วโลก รวมทั้งการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนในขณะนี้

 

โดรนที่ตุรกีผลิตถือเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญที่ยูเครนอาจใช้ต่อกรกับรัสเซียได้ และอาจกล่าวได้ว่าโดรนเหล่านี้เป็นยุทโธปกรณ์สำคัญในจุดขัดแย้งอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

 

มาทำความรู้จักกับอานุภาพของโดรนจากตุรกี

 

ตุรกีเก่งแค่ไหนในสนามนี้

ตุรกีเป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมเดียวที่ได้เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือทางทหารของโลกตะวันตก

กองทัพตุรกีมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของนาโต เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา โดยตุรกีมักแบ่งปันเทคโนโลยีทางการทหารกับประเทศพันธมิตร

 

"รัฐบาลตุรกีใช้เวลา 20 ปี สร้างกองกำลังโดรนที่แข็งแกร่ง" อาร์ดา เมฟลูโตกลู นักวิเคราะห์อิสระด้านการทหารที่ประจำอยู่ในตุรกีกล่าว

 

นักวิเคราะห์อิสระผู้นี้บอกด้วยว่าตุรกีใช้โดรนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพในยุทธการลับทั้งภายในตุรกีและข้ามพรมแดน เพื่อต่อต้านกองกำลังแยกดินแดนของชาวเคิร์ด หรือพีเคเค ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990

 

"เทคโนโลยีโดรนได้รับความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในมิติของความสามารถในการปฏิบัติการจริงและการผลิต ตุรกีอยู่ในจุดที่ไร้คู่แข่งในภูมิภาค เว้นแค่เพียงอิสราเอลเท่านั้น"

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับผู้ผลิตโดรนในตุรกี

ตุรกีมีผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับ หรือ unmanned aerial vehicles (UAVs) รายใหญ่ 2 ราย

บีคาร์ดีเฟนซ์ผลิตโดรนยอดนิยม Bayraktar TB2 (บายรักทาร์ช ทีบีทู) และ Bayraktar Akinci (บายรักทาร์ช อคินเจอะ)

เซลจุก บายรักทาร์ช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของบีคาร์ดีเฟนซ์ เป็นลูกเขยของนายเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี

ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของตุรกีอีกเจ้าคือ เตอร์กิช แอโรสเปซ อันดัสทรีส์ ซึ่งสร้างโดรน TAI Anka (ทีเอไอ อังคา) และ TAI Aksungur (ทีเอไอ อัคซุนกุส)

อาร์ดา เมฟลูโตกลู ผู้เชี่ยวชาญด้านโดรน บอกว่า กองทัพและหน่วยงานความมั่นคงของตุรกีมีโดรนเหล่านี้ในครอบครองมากกว่า 150 ลำ "เพิ่มเติมจากโดรนสอดแนมลำเล็กและโดรนกามิกาเซที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก"

 

สัมพันธ์การค้าและการทหารระหว่างตุรกีกับยูเครน

ตุรกีเริ่มขายโดรนติดอาวุธ Bayraktar TB2 ให้กับยูเครนตั้งแต่ปี 2019

ยูเครนต้องการเข้าร่วมกับนาโตในอนาคตเคียงข้างตุรกี ขณะที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีรัสเซียหนุนหลังทางตะวันออกของประเทศ

 

รัฐบาลในกรุงเคียฟยังเตรียมพร้อมรับมือกับการรุกทางบกของกองกำลังรัสเซียตามแนวชายแดน

เมื่อ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีตุรกีเดินทางไปเยือนยูเครนและลงนามในสัญญาซื้อขายโดรนเพิ่มเติมระหว่างสองประเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าข้อตกลงดังกล่าวสร้าง "เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตตุรกีที่จะมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตโดรนในยูเครน" เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างสายการผลิตโดรนทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง

 

รัสเซียมีปฏิกริยาอย่างไรต่อพัฒนาการนี้

เมื่อเดือน ต.ค. 2564 กองทัพยูเครนเผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่าเป็นภาพโดรนที่สร้างโดยตุรกีปฏิบัติการทำลายปืนใหญ่วิถีโค้ง D-30 ซึ่งเป็นของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียสนับสนุน

การกล่าวอ้างนั้นทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากฝั่งรัสเซีย โดยรัฐบาลรัสเซียออกมาเตือนตุรกีว่าโดรนของตุรกีนั้นกำลังเพิ่มความเสี่ยง "ทำให้ภูมิภาคไร้เสถียรภาพ"

รัฐบาลตุรกีเสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ประเด็นการขายโดรนก็ทำให้ข้อเสนอนี้ดูยุ่งยากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและรัสเซียอยู่ในวิถีที่มีความซับซ้อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สงครามซีเรียปะทุขึ้น

รัฐบาลตุรกีและรัฐบาลรัสเซียมีผลประโยชน์ขัดกันในซีเรีย แต่ทั้งสองฝั่งได้มีความพยายามพัฒนาความร่วมมือกัน

นาโตและสหรัฐอเมริกาวิจารณ์ตุรกีอย่างหนักหลังซื้อระบบป้องกันทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามของตุรกีในการฟื้นสัมพันธ์กับรัสเซีย

 

 

โดรนของตุรกีจะช่วยยูเครนพลิกเกมในสมรภูมิได้หรือไม่

ไม่เป็นที่แน่ชัดมากนักว่ายูเครนมีโดรน Bayraktar TB2 จำนวนเท่าไหร่

แต่อาร์ดา เมฟลูโตกลู กล่าวว่า "สำหรับยูเครน TB2 มีศักยภาพสำคัญที่จะใช้ต่อกรกับกองทัพแบ่งแยกดินแดนในเขตดอนบาส"

โดรนดังกล่าวมีทั้งกล้องตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขั้นสูง ระบบข้อมูลเชื่อมต่อ และอาวุธนำวิถีแม่นยำอีก 2-4 ตัว

ความสามารถเหล่านี้ช่วย "ชี้เป้าให้กับทุกหน่วยให้กองทัพ ทั้งยังสามารถจู่โจมได้ด้วยระเบิดนำวิถีที่ของตัวเอง"

เมฟลูโตกลูกล่าวว่าความสามารถดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเคลื่อนกองกำลังเพื่อต่อต้านเป้าเคลื่อนที่ เช่นการต่อสู้กับกองทหารอาสาในดอนบาส

ทว่า หากเกิดสงครามเต็มรูปแบบกับรัสเซีย เขายังตั้งคำถามกับความสามารถของโดรนอยู่

"กองทัพติดอาวุธของรัสเซียเหนือกว่ายูเครนอย่างมาก ทั้งในเชิงปริมาณและเทคโนโลยี" เขาระบุ

 

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

ประเทศไหนบ้างที่ครอบครองโดรนตุรกี

ลูกค้าโดรนของตุรกีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลการส่งออกของประเทศไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงตัวเลขการซื้อขายโดรน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีมากกว่า 15 ประเทศที่ครอบครองโดรน Bayraktar และ TAI ของตุรกี

Bayraktar TB2 เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดหลังจากที่มันพิสูจน์ให้เห็นความสามารถในการสู้รบในซีเรีย ลิเบีย และล่าสุดในนากอร์โน-คาราบัค

การต่อสู้ในพื้นที่นากอร์โน-คาราบัคระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานกินเวลา 44 วัน กองกำลังอาเซอร์ไบจานใช้โดรนตุรกีพุ่งเป้าไปที่ทหารอาร์เมเนีย ยานพาหนะทางทหาร ปืนใหญ่ และระบบป้องกันทางอากาศ ซึ่งช่วยให้พวกเขายึดคืนพื้นที่พิพาทบางส่วน

เมื่อเดือน พ.ค. 2564 รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของโปแลนด์ระบุว่าสั่งซื้อโดรนติดอาวุธจากตุรกีทั้งหมด 24 ลำ ส่งผลให้เป็นประเทศสมาชิกแรกของนาโตที่สั่งซื้อโดรนจากตุรกี

แอฟริกานับเป็นตลาดที่ใหญ่เช่นเดียวกัน

"ตุรกีดูจะเป็นคู่แข่งรายใหญ่กับผู้ผลิตจากจีน โดนเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดแอฟริกา" อาร์ดู เมฟลูโตกลู ชี้

"โดรนราคาถูกจากตุรกีมาพร้อมกับศักยภาพแบบมาตรฐานนาโตและคุณภาพของโดรนติดอาวุธ"

โมร็อกโก แอลจีเรีย รวันดา เอธิโอเปีย ล้วนแสดงความสนใจในโดรนจากตุรกี

ข้อมูลการซื้อขายทางทหารไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ตุรกีได้ลงนามข้อตกลงร่วมด้านการป้องกันประเทศกับเอธิโอเปียในปีที่ผ่านมา และข้อมูลการส่งออกสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรายได้จากอากาศยาน เดือน ธ.ค. 2564 เจ้าหน้าของสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลต่อการที่ตุรกีขายโดรนให้กับเอธิโอเปีย

แต่ตุรกีก็ยังเดินหน้าหาตลาดใหม่ ๆ ขายยุทโธปกรณ์

"การขายโดรนจะส่งเสริมความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมทางทหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตุรกีในการขยายอิทธิพลทางการทหาร การทูต และเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า" เมฟลูโตกลู นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศ กล่าว

ตุรกีมองว่าแอฟริกาทั้งทวีปเป็นตลาดสำคัญ ซึ่งประธานาธิบดีแอร์โดอันมองเห็นความต้องการด้วยตัวของเขาเอง

"ทุกที่ที่ผมไปในแอฟริกา ทุกคนถามหาแต่ยูเอวี" เขากล่าวระหว่างการเยือนแองโกลา ไนจีเรีย และโตโกเมื่อเดือน ต.ค. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง