รีเซต

งานท้าทายวัดฝีมือ ขุนคลัง ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’

งานท้าทายวัดฝีมือ ขุนคลัง ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2563 ( 11:52 )
202
งานท้าทายวัดฝีมือ ขุนคลัง ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’

ในวันนี้(12 ต.ค.) เป็นวันแรกที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำงานเป็นวันแรก ประเดิมด้วยเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 9 ที่ กระทรวงการคลัง 

หลังจากนั้นรีบเดินทางเข้าร่วมประชุมครม.ที่นำเนียบรัฐบาล ซึ่ง ครม.มีวาระพิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลาย มาตรการ อาทิ ช้อปดีมีคืน การปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน โดยหลังประชุมครม. คาดว่านายอาคม จะเรียกประชุมผู้บริหารกระทวงการคลัง เพื่อมอบนโยบายเดินหน้างานสำคัญของกระทรวง 

ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่างเว้นมานานเกือบ 3 เดือน หลังจากนายอุตตม สาวนายน ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2563 ต้องใช้เวลา 25 วันจึงได้นายปรีดี ดาวฉาย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน แต่นายปรีดีรับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน ก็ขอลาออก หลังจากนั้นใช้เวลากว่า 1 เดือน จึงจะได้ชื่อของรมว.คลัง คนใหม่

ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นตำแหน่งที่ผู้นำรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี ในแต่ละรัฐบาลให้ความสำคัญ ต้องเฟ้นหามือดี มีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ 

ก่อนหน้านี้มีโผรายชื่อผู้ที่จะมารับตำแหน่งหลายราย ตั้งแต่อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ นักบริหารในแวดวงการเงิน แต่สุดท้ายรายชื่อมาลงตัวที่ “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” 


ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือว่า สำคัญไม่แพ้ตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาล เพราะกระทรวงการคลังเป็นประเป๋าเงินภาครัฐ มีหน้าที่จัดหารายได้ให้รัฐบาล 

ส่วนใหญ่รายได้ของรัฐบาลมาจาก กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรรพสามิต  ทั้ง 3 กรมเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง ที่มีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้มากกว่า 90% ของรายได้รัฐบาล 

นอกจากนี้ กระทรวงคลัง ยังเป็นมันสมอง ของรัฐบาล นโยบายด้านเศรษฐกิจที่นำมากระตุ้นและฟื้นฟู ล้วนมาจากกระทรวงการคลังแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน สวัสดิการคนจน 

ก่อนหน้านี้มีมาตรการบัตรสวัสดิการ ชิมช้อปใช้ แจกเงินเกษตรกร ที่อัดทั้งเงิน และอัดมาตรการ เพื่อดูแลเศรษฐกิจ มาตลอดตั้งแต่รัฐบาลคสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลชุดนี้ 

รวมถึงกระทรวงการคลัง ยังดูแลบริหารหนี้ของรัฐบาล การกู้เงินให้รัฐบาล กู้เงินให้รัฐวิสาหกิจ และการกู้เงินมาใช้ในโครงการต่างๆ นอกจากนี้ยังดูแลการเบิกจ่ายเงินภาครัฐทั้งหมด เพราะการเบิกจ่ายหน่วยงานราชการต้องดำเนินการผ่านกรมบัญชีกลาง  รวมถึงเป็นหน่วยงานออกกฎหมาย และนโยบายต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเงิน-การคลัง  

ติดตามชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงาน เศรษฐกิจInsight 12 ต.ค.63

https://www.youtube.com/watch?v=vVQChZTzuws

ส่วนนโยบายที่ร่วมกันกับหน่วยงานอื่น เช่น มาตรการช่วยลูกหนี้จากพิษโควิด -19, การออก พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยา ดูแล และฟื้นฟู ประเทศจากโควิด -19 ,มาตรการดูแลท่องเที่ยว,การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็มีกระทรวงการคลังไปเกี่ยวข้องด้วยในเกือบทุกเรื่อง

งานเร่งด่วนที่รอให้นายอาคม มาดำเนินการ คงหนีไม่พ้นการดูแล และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด -19  
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีหลายมาตรการมาดูแล แต่ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าผลกระทบโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่และจบอย่างไร 

ในช่วงโควิด -19 แม้หายธุรกิจยังพอประคองตัวให้เดินต่อไปได้ เพราะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และบางส่วนยังพอมีเงินทุนสำรองนำมาใช้พยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป 

แต่มีการประเมินว่าในช่วงไตรมาสุดท้ายปีนี้ ผลกระทบที่เกิดจากโควิด -19 กับภาคธุรกิจ อาจรุนแรงขึ้น เห็นได้จากขณะนี้ดัชนีหลายตัวเริ่มแผ่วลง



ดัชนีเอสเอ็มอี สำรวจโดยส่งเสริมวิสาหกิจขขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)  ในเดือนส.ค. อยู่ที่ 51.2  ปรับลดลงเจากเดือนกรกฎาคม 2563 ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วงผ่อนปรนมาตรการของรัฐ 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน 2563 ของมหาวิทยาลัยหอการค้า ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 50.2 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเสถียรภาพการเมือง หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง และการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี ดาวฉาย ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวช้า และในอนาคตอาจเกิดการว่างงานมากขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19

เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ดีขึ้น กระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เอกชนยังไม่กล้าลงทุน เพราะเมื่อลงทุนไปแล้วไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร

นอกจากนี้ภาคส่งออกที่ยังมีปัญหาติดลบ การท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับคืนมา 
ความสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจนับจากนี้ ตกมาอยู่ที่ “การลงทุนรัฐบาล” ต้องขึ้นมาเป็น “พระเอก” นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในระยะต่อไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตามหากติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ 2 ตัวสำคัญ คือ  การเบิกจ่ายในงบประมาณประจำปี และ การเบิกจ่ายงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท พบว่า ยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก




ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ตัวเลขจากกรมบัญชีกลาง จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2563 พบว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนทำไปได้เพียง  51.67% ถ้ารวมกับการผูกพันงบประมาณเพื่อเบิกเหลื่อมปี ซึ่งมีลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแต่ยังไม่เบิกจ่าย พบว่าการดำเนินการเรื่องงบลงทุนทำได้เพียง 73.69%  ของงบลงทุน 5.91 แสนล้านบาท 

ส่วนงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จนถึงวันที่ 16 ก.ย. ครม. อนุมัติโครงการในรอบที่ 1 แล้ว 229 โครงการ วงเงิน 60,131 ล้านบาท 
แต่ผลการเบิกจ่ายนั้นน้อยมาก ซึ่งทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขว่า จนถึงวันที่ 16 ก.ย.มีการเบิกจ่ายไปเพียง 1.80% ของวงเงินอนุมัติ หรือประมาณกว่า 1 พันล้านบาท คิดเป็น  0.25% ของวงเงิน 4 แสนล้านบาท 
ทั้งนี้พ.ร.ก.กู้เงินมีกำหนดให้ดำเนินการถึง 30 ก.ย. 2564 ดังนั้นเงินที่เหลืออีกเกือบ 4 แสนล้านบาทต้องเร่งเบิกจ่ายให้จบภายใน 12 เดือนนับจากนี้ อาจมีปัญหาได้ ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี

ในฐานะ รมว.คลัง และในฐานะอดีตเลขาธิการ สภาพัฒน์  คาดว่านายอาคม จะเข้าไปช่วยดูในเรื่องการเบิกจ่ายเงินกู้ และเงินงบประมาณภาครัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้เป็นไปอย่างตรงจุด และรวดเร็วมากขึ้น 




นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้การลงทุนภาครัฐ คือ “เพดานหนี้สาธารณะ” ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  ซึ่งตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี โดยก่อนหน้านี้ไม่มีปัญหา เพราะหนี้สาธารณะของไทยเฉลี่ยในระดับ 41-42% ต่อจีดีพี 

แต่จากการที่รัฐบาลต้องกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการกู้ขาดดุลที่ยังเพิ่มขึ้นในปีงย 2563 กว่า 2 แสนล้านบาท สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ประเมินว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP ภายหลังการกู้เงินตามแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 57.23% แม้ว่าจะยังไม่เกินเพดานหนี้ แต่ก็ปริ่มๆ 

ประเมินว่าหากมีเหตุฉุกเฉินขึ้นมา จะสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีกระดับไม่กี่แสนหลายบาท ก็จะแตะเพดานหนี้ และแตะระดับกรอบกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดไว้ 

ดังนั้นในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ที่จะมีกำหนดประชุม “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธาน คาดว่าจะมีข้อเสนอว่าจะมีการ “ปรับแก้” กรอบเพดานหนี้ 60% ต่อจีดีพี  ซึ่ง รมว.คลัง ต้องพิจารณาและตัดสินใจว่าควรขยับเพดานหนี้ไปเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นและกระทบต่อวินัยการเงินการคลังในอนาคต 

หากขยับน้อยไปต้องมาปรับกันใหม่ๆ อีกเรื่อยๆ จะกระทบต่อความมั่นใจ แต่ถ้า ขยับเพดานสูงเกินไป อาจเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลในอนาคตใช้จ่ายเงินโดยไม่ยั้งคิด ทำให้เกิดภาระหนี้ สร้างภาระต่อของประเทศในอนาคต 

ในฐานะกระทรวงที่ดูแลกระเป๋าเงินให้รัฐบาล  นายอาคม เปรียบเสมือนเป็นพ่อบ้านที่ต้องหาเงินให้สมาชิกในครอบครัวมาใช้จ่าย 



อย่างไรก็ตามในปีงบ 2563 การจัดเก็บรายได้รัฐบาลได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ส่งผลให้จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการในเอกสารงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท กระทบต่อเงินคงคลัง ลดลง จึงต้องกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายอีก 2.14 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า ในปีงบ  2564 “รายได้มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมาย” เหมือนกันในปี 2563 เพราะผลจากโควิด 19 ทำให้ผลประกอบการภาคธุรกิจไม่ดีนัก ตรงนี้จะส่ผลการ "จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล" ที่จะต่ำลง 

นอกจากนี้โควิด-19 ทำให้รายได้ของพนักงานบริษัทเอกชนลดลง เพราะบางบริษัท ปรับลดเงินเดือน ไม่จ่ายเงินโบนัส บางรายต้องตกงาน ดังนั้นมีแนวโน้มว่าการจัดเก็บ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" จะลดลง 

ภาษี 2 ตัวนี้เป็นภาษีอันดับ 1 และอันดับ 2 ทำรายได้ให้รัฐบาล ดังนั้นหากจัดเก็บภาษีลดลง จะมีผลต่อภาพรวมรายได้รัฐบาลในปีงบ 2564 อย่างแน่อน

ทั้งนี้ในปีงบ 2564 รัฐบาลกำหนดรายจ่ายไว้ที่ 3.285 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท โดยสามารถขาดดุลสูงสุด 7.39 แสนล้านบาท  หมายความว่าถ้ารายได้ไม่เข้าเป้าตามที่วางไว้ 2.662 ล้านล้านบาท จะสามารถกู้เพื่อมาชดเชยขาดดุลอีกเพียง 1.16 แสนล้านบาทเท่านั้น 
จากการประเมินทิศทางในอนาคต มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงว่ารายได้จะไม่เข้าเป้าหมาย  

ตรงนี้ถือเป็นความ "ท้าทาย" ของรมว.คลังคนใหม่ จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับ "กระเป๋าเงินภาครัฐ"  

เพราะในสถานการณ์แบบนี้ ทั้งรัฐและเอกชนมองตรงกันว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี เศรษฐกิจจึงจะฟื้นตัว ดังนั้นหากจะเก็บภาษีใหม่ๆ จากประชาชน เพื่อหารายได้เพิ่มคงเป็นไปได้ยาก 


ทั้งนี้มีข้อเสนอจากภาคเอกชน ในหลายเรื่อง ส่วนใหญ่คล้ายๆ กันที่ต้องการให้เข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจ ดูแลเอสเอ็มอี  โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า นโยบายเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการให้รมว.คลังคนใหม่เข้ามาสานต่อ เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี , การขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี , นโยบายเมดอินไทยแลนด์ ส่งเสริมใช้สินค้าไทย , กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นต้น

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า  งานเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขคือ การเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว เพราะหากภาครัฐไม่เร่งเข้ามาช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมจะส่งผลให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น จะกระทบต่อแรงงานที่อาจตกงานเพิ่มขึ้น 

ส่วน นางสาว กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการในขณะนี้ คือ การฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ที่ผ่านมามีข้อเสนอให้มีการปรับระเบียบ กฎเกณฑ์ ค่าธรรมเนียมต่างๆ การแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าเพราะค่าเงินบาทแข็งกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งขณะนี้ตัวช่วยในเรื่องของข้อตกลงการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ ในกรอบต่างๆก็ยังไม่เดินหน้า ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มสายการบิน ยังรอเรื่องซอฟท์โลน 2.4 หมื่นล้านบาท ที่จะออกให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน 8 รายได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท นกแอร์ และนกสกู๊ต เพื่อพยุงธุรกิจสายการบินให้สามารถอยู่รอดในช่วงโควิด-19

ทั้งนี้หมดนี้ เป็นงานเร่งด่วนที่นายอาคม ในฐานะรมว.คลังคนใหม่ ต้องเร่งมือ ซึ่งจากการทำงานของนายอาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และรมช.คมนาคม ตลอด 5 ปีในยุครัฐบาลคสช. และในฐานะเลขาธิการ สภาพัฒน์ เชื่อว่าน่าจะรับมือกับการทำงานในตำแหน่งรมว.คลังได้ 

หลังจากนี้คงต้องจับตาว่าการผลักดันนโยบายในฐานะรมว.คลังของนายอาคม จะตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ และประชาชนมากน้อยแค่ไหน  

รวมถึงต้องติดตามว่านโยบายจะที่ออกมาจากกระทรวงการคลัง สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังบอบซ้ำจากพิษโควิด -19 ได้หรือไม่ ถือเป็นงานท้าทาย ที่นายอาคม ต้องดำเนินการ ในขณะที่นั่งอยู่ในเก้าอี้ขุนคลังนับจากนี้ไป

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง