รีเซต

27 สิงหาคม 1962 นาซาส่งยานอวกาศ Mariner 2 ไปสำรวจดาวศุกร์

27 สิงหาคม 1962 นาซาส่งยานอวกาศ Mariner 2 ไปสำรวจดาวศุกร์
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2566 ( 12:37 )
117

27 สิงหาคม 1962 นาซาส่งยานอวกาศมารีนเนอร์ 2 (Mariner 2) ออกเดินทางไปสำรวจดาวศุกร์ นับเป็นยานสำรวจอวกาศลำแรก ๆ ของนาซาที่เดินทางไปสำรวจดาวศุกร์ หนึ่งในดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของโลก และถูกมองเห็นได้ง่ายมากที่สุดในทุก ๆ ตอนเช้าบนท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันออก


ยานอวกาศมารีนเนอร์ 2 (Mariner 2) ได้รับการพัฒนามาจากยานอวกาศ Ranger Block l โดยห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น (JPL) เป็นยานอวกาศภายใต้โครงการมารีนเนอร์ อาร์ (Mariner R) ซึ่งประกอบไปด้วยยานอวกาศมารีนเนอร์ 1 (Mariner 1) และยานมารีนเนอร์ 2 (Mariner 2) จำนวน 2 ลำ ที่มีลักษณะการออกแบบคล้ายกัน


การออกแบบยานอวกาศมารีนเนอร์ 2 มีลักษณะเป็นยานอวกาศระดับวงโคจร น้ำหนักยาน 203 กิโลกรัม โครงสร้างมีลักษณะเป็นรูปทรง 6 เหลี่ยม ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ 2 ข้าง ด้านซ้ายและขวาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ด้านบนของยานติดตั้งจานส่งสัญญาณและเสาอากาศพาราโบลา สื่อสารกับโลกมนุษย์ รวมไปถึงอุปกรณ์สำรวจอื่น ๆ เช่น เครื่องวัดรังสีไมโครเวฟ เครื่องวัดรังสีอินฟราเรด 


ยานอวกาศมารีนเนอร์ 2 (Mariner 2) ออกเดินทางขึ้นจากโลกในวันที่ 27 สิงหาคม 1962 โดยใช้งานจรวด Atlas LV-3 โดยใช้ฐานปล่อยจรวด LC-12 บริเวณศูนย์อวกาศแหลมคานาเวอรัล ยานมารีนเนอร์ 2 เดินทางถึงดาวศุกร์ในวันที่ 14 ธันวาคม 1962 โดยยานอวกาศลำนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้ลงจอดบนดาวศุกร์ เนื่องจากถูกออกแบบให้เป็นยานอวกาศในวงโคจร 


ภารกิจหลักของยานอวกาศมารีนเนอร์ 2 คือ การตรวจสอบชั้นบรรยากาศบริเวณเหนือผิวดาวศุกร์และวัดอุณหภูมิ ตรวจสอบรังสีของดาวเคราะห์ ตรวจวัดสนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์และสภาพแวดล้อมของอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์และเปลวสุริยะจากดวงอาทิตย์ 


การค้นพบที่สำคัญ เช่น ในขณะที่บินโคจรผ่านดาวศุกร์ยานได้ตรวจสอบด้วยเครื่องวัดวิทยุพบว่าดาวศุกร์มีชั้นเมฆที่เย็นจัดแต่ในขณะเดียวกันกลับมีพื้นผิวที่ร้อนจัด การพัฒนาวิธีการสื่อสารระยะไกลระหว่างยานอวกาศกับโลกมนุษย์ รวมไปถึงการศึกษาลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ครั้งแรก ๆ ของโลก


ความสำเร็จของยาน Mariner 2 นับเป็นก้าวสำคัญของการสำรวจอวกาศ ยานลำนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่นได้สำเร็จ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดาวศุกร์มากขึ้น


ที่มาของข้อมูล Wikipedia.org 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง