รีเซต

พันธุ์อินเดีย จะมาแทนที่ ชี้ความดุ ฉีดไฟเซอร์-เอสตรา ยังทำภูมิลด

พันธุ์อินเดีย จะมาแทนที่ ชี้ความดุ ฉีดไฟเซอร์-เอสตรา ยังทำภูมิลด
ข่าวสด
22 มิถุนายน 2564 ( 14:35 )
51

 

"หมอยง" คาด 4-5 เดือนโควิด สายพันธุ์อินเดีย(เดลต้า) อาจมาแทน สายพันธุ์อังกฤษ(อัลฟา) และจะมีสายพันธุ์ที่แพร่เร็วขึ้นมาแทนที่อีกตามวัฏจักร รอผลศึกษาหลายอย่าง ทั้งการฉีดกระตุ้นซิโนแวคเข็ม 3 ในเวลาเหมาะสม หรือการฉีดสลับชนิด ช่วยบูสภูมิคุ้มกันสูง 10 เท่า

 

 

 

วันที่ 22 มิ.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสเป็นเรื่องปกติ โดยไวรัสที่เปลี่ยนแปลงแล้วแพร่ระบาดได้เร็วกว่าจะมาแทนที่สายพันธุ์เดิม ซึ่งวงรอบมาแทนจะอยู่ที่ 4-5 เดือน เช่น สายพันธุ์จีมาแทนอู่ฮั่น สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) มาแทนสายพันธุ์จีตามวัฏจักร ตอนนี้มีเดลตา (อินเดีย) แพร่ง่ายกว่า 1.4 เท่า ซึ่งเราพบในไทยเริ่มจากแคมป์ก่อสร้างแถวหลักสี่ ก็ต้องพยายามต่อสู้ควบคุมสายพันธุ์เดลตาให้มากที่สุด โดยพยากรณ์ 4-5 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์ระบาดในไทยน่าจะเป็นเดลตามากขึ้นเรื่อยๆ และทั่วโลกเดลตาจะกลบอัลฟาหมดไป และเชื่อว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกตามวัฏจักร 4-5 เดือน ไม่สิ้นสุดแค่เดลตา

 

 

"ไม่ว่าอัลฟา เดลตา เบตา ความรุนแรงของโรคไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่ที่กังวลคือการลดประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะส่วนใหญ่ทุกบริษัทในโลกนี้พัฒนาวัคซีนมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีนคืออู่ฮั่น แต่ไวรัสเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นไปได้ที่วัคซีนจะลดประสิทธิภาพลงทีละน้อย จนกว่าจะพัฒนาวัคซีนรุ่นสองซึ่งต้องใช้เวลา แต่ไวรัสก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้ที่พบคือ สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่กระทบประสิทธิภาพวัคซีน แต่ไม่ค่อยกลัว เพราะอำนาจแพร่กระจายโรคต่ำกว่าอัลฟาและเดลตา โอกาสเบตาครองโลกมาติดส่วนใหญ่ประชากรโลกจะช้ากว่า" ศ.นพ.ยงกล่าว

 

 

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือตอนนี้เดลตาเริ่มเพิ่มขึ้น เราเห็นชัดคือเมื่อไปติดในประเทศอังกฤษ มีการศึกษาในสกอตแลนด์ว่า เมื่อใช้วัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพทั้งสองตัวต่อเดลตาลดลง 10 กว่า% คือยังกันได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง จากเดิมไฟเซอร์ 2 เข็มประสิทธิภาพ 90 กว่า% แต่พอเป็นเดลตาลดลงเหลือ 79% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เดิมประสิทธิภาพประมาณ 80-90% ตอนนี้ลดลงเหลือ 67% แต่สำคัญคือการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต้องใช้ภูมิต้านทานที่สูงพอ ถ้าภูมิที่ต่ำกว่าอาจป้องกันไม่ได้ ดังนั้น การฉีดเข็มเดียวประสิทธิภาพอาจไม่เพียงพอ การป้องกันโรคจะเหลือ 20-30% ของทั้งสองชนิด

 

 

 

"เราต้องชะลอการระบาดสายพันธุ์เดลตาให้มากสุด ทุกคนต้องช่วยกันหยุดยั้งการระบาด ตั้งการ์ดสูงขึ้น ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะโรงงาน แคมป์ ชุมชนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังต้องพยายามปูพรมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อควบคุมการระบาดโควิดที่เป็นอัลฟา ส่วนเดลตาที่ระบาดเพิ่มอาจต้องปรับกลยุทธ์การให้วัคซีน มหาวิทยาลัยลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนภูมิต้านทานแค่ไหนถึงเหมาะสมกับเดลตา" ศ.นพ.ยงกล่าว

 

 

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า จากการศึกษาของเรารู้ว่าการใช้ภูมิต้านทานสูงขึ้นจะช่วยป้องกันเดลตา โดยการกระตุ้นวัคซีนในเวลาที่เหมาะสมภูมิจะขึ้นมากกว่า 10 เท่า เช่น วัคซีนตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ที่ให้ 3 เข็ม ก็สูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า ซึ่งการกระตุ้นเข็ม 3 ของซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ก็ขึ้นไปสูงน้องๆ ไฟเซอร์ เรากำลังศึกษาการให้เข็มสามซิโนแวคที่ 3 เดือน 6 เดือน เชื่อว่าภูมิที่สูงขึ้นจะเกิน 10 เท่า แม้ให้ซิโนแวคตัวเดิมหรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือศึกษาการฉีดเข็ม 1 ซิโนแวคและเข็มสองเป็นแอสตร้าเซนเนก้าก็พบว่าทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น แต่สิ่งที่คำนึงถึงคือความปลอดภัย โดยข้อมูลจะออกมาเร็วๆ นี้ ต้องรอข้อมูลทั้งนั้น ว่ากลยุทธ์จริงๆ ต้องผสมผสานอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง