รีเซต

'จากป่า มาสู่กรุง' เปิดข้อกฎหมาย 'สิงโต' นั่งเบนท์ลีย์ เมื่อ 'สัตว์ป่า' กลายเป็น 'สัตว์เลี้ยง'

'จากป่า มาสู่กรุง' เปิดข้อกฎหมาย 'สิงโต' นั่งเบนท์ลีย์ เมื่อ 'สัตว์ป่า' กลายเป็น 'สัตว์เลี้ยง'
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2567 ( 10:20 )
55
'จากป่า มาสู่กรุง' เปิดข้อกฎหมาย 'สิงโต' นั่งเบนท์ลีย์ เมื่อ 'สัตว์ป่า' กลายเป็น 'สัตว์เลี้ยง'


จากกรณีในสังคมออนไลน์ มีการแชร์คลิปชาวต่างชาติขับรถหรู พาสิงโตชมวิวกลางเมืองพัทยา ส่งผลให้ชาวบ้านนักท่องเที่ยวและคนใช้รถใช้ถนนต่างตกใจกลัว จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการนำสัตว์ดุร้ายมาเลี้ยง และมายังแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเกรงว่าจะเกิดอันตราย


จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบ ผู้ขับรถยนต์ คันดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีการนำลูกสิงโตซึ่งที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตเคลื่อนย้ายมาบนรถในที่สาธารณะ และลูกสิงโตตัวดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง


นอกจากนี้ตามระเบียบการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงสถานที่จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง และต้องจัดระบบอย่างเหมาะสม ปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือแม้แต่การนำไปจัดแสดงหรือวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากการเลี้ยงให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเคลื่อนย้ายด้วยทุกครั้ง


การกระทำดังกล่าว โดยการนำลูกสิงโต ซึ่งเป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครอง ชนิด ก (ดุร้าย) มาโชว์ในที่สาธารณะ ไม่ดูแลรักษาในสถานที่ครอบครองที่แข็งแรงปลอดภัย และเคลื่อนย้ายสิงโต โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการแจ้งและการรับแจ้ง และการครอบครองซึ่งสัตว์ป่าควบคุมและซากสัตว์ป่าควบคุม 2565 โดยที่หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำหรับในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีการครอบครองสิงโตและสิงโตขาวทั้งหมด 5 ราย เป็นคนไทย 4 รายและสวนสัตว์ 1 ราย รวมทั้งสิ้น 15 ตัว


นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกด้วยว่า สิงโตขาว ตัวนี้ ยังเป็นลูกสิงโตอายุ 5-6 เดือน ราคาจำหน่ายตกที่ตัวละ 500,000 บาท ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยและต่างชาติ



รู้หรือไม่? ‘ไทย’ เลี้ยงสิงโตได้ 


ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2565 ผู้มีสิงโตไว้ในครอบครองต้องทำการแจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีเอกสารหลักฐานการได้มาอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เช่น ใบนำเข้า ใบกำกับการจำหน่าย หรือใบเสร็จจากร้านค้า เพื่อยืนยันการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่สามารถใช้บันทึกแจงรายละเอียดการได้มาซึ่งสัตว์ป่าควบคุมหรือซากสัตว์ป่าควบคุมได้


ผู้ใดประสงค์ดำเนินกิจการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสิงโต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 28 หรือค้าสัตว์ป่าควบคุม มาตรา 30 จะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาเสนอการออกระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติในการการแจ้งการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าควบคุม (รวมถึงสิงโต) ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเมื่อผ่านการพิจารณา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป 


ทั้งนี้ เนื่องจากสิงโต อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก จึงต้องมีการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ ในการอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าสิงโตต่อไป


ไม่แจ้งการครอบครองจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เตรียมออกประกาศบุคคล ห้ามครอบครอง สิงโต-สัตว์อันตราย


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า กรมอุทยานฯมีแนวคิดจะห้ามบุคคลไม่ให้ครอบครองสัตว์ดุร้าย ที่อาจจะเป็นอันตรายอีกต่อไป เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็น  


ทั้งนี้ กลุ่มสัตว์ขนาดใหญ่ ดุร้าย มี 10 ชนิด 3 กลุ่ม ได้แก่


▪️ กลุ่มสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่: เสือชีต้า / สิงโต / เสือจากัวร์


▪️ กลุ่มลิงขนาดใหญ่: กอริลล่าภูเขา / กอริลล่า / ชิมแพนซีธรรมดา / โบโนโบ้ / อุรังอุตังสุมาตรา / อุรังอุตังบอเนียว


▪️ กลุ่มงูขนาดใหญ่: งูอนาคอนดาเขียว




น่าเศร้า...เจ้าป่าเรา เหลือน้อยเต็มที


ข้อมูลจาก WWF Thailand ระบุว่าสิงโตเหลือน้อยกว่าที่คิด ปัจจุบันจำนวนสิงโตในธรรมชาตินั้นลดลงมามาก มีเหลืออยู่เพียงแค่ 23,000 ตัว ช่างน่าเศร้าที่เจ้าป่าของเรานั้นลดลงจนถูกจัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของมันนั้นเกิดจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทำลายที่อยู่อาศัย ล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของสิงโต ล่าสิงโตอย่างผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งจากการที่มนุษย์เราฆ่าสิงโตเพื่อที่จะปกป้องตนเองและสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตามถ้าเราช่วยกันเป็นกระบอกเสียงบอกต่อถึงปัญหานี้ เราก็อาจสามารถช่วยสิงโตเหล่านี้กันได้ไม่มากก็น้อย



ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / WWF Thailand

ภาพ : ประกอบ เฟซบุ๊ก แอน อีสานรัสเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง