พิจิตรยังแล้งหนัก แม่น้ำยมแห้ง เป็ดไล่ทุ่งไข่แค่ 60 ฟอง จากปกติ 800-900 ฟอง
พิจิตรยังแล้งหนัก เกษตรกรทำเกษตรไม่ได้ แม่น้ำยมแห้ง ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดเครียด ไข่เหลือเพียง 60 ฟอง จากที่เคยเก็บได้ 800-900 ฟอง
วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ในพื้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่กำลังประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำในการเลี้ยงเป็ด โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ต้องใช้บ่อบาดาลใต้ดินของเกษตรกรชาวนา ที่สูบน้ำบาดาลพร้อมทั้งต้องช่วยจ่ายค่าน้ำมันให้กับชาวนา ทำการสูบน้ำบาดาลนำน้ำใต้ดินขึ้นมาเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงไว้กว่า 2,000 ตัว แทนการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหนอง คลอง บึง ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแหล่งน้ำแห้งจนไม่มีน้ำ เกษตรกรจึงต้องใช้วิธีสูบน้ำจากบ่อบาดาลเพื่อเลี้ยงเป็ดแทน
นายเสน่ห์ สารชาติ เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง กล่าวว่า สำหรับการสูบน้ำบาดาลเพื่อนำมาเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง จากแหล่งน้ำที่แห้วงขอดลง การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง โดยอาศัยน้ำจากชาวนา โดย จะมีค่าใช้จ่ายช่วยชาวนา ด้วยการออกค่าน้ำมันสูบน้ำ ขึ้นมาเลี่ยงเป็ดไล่ทุ่ง ในส่วนช่วงนี้ ปริมาณไข่เป็ดที่ลดลง จากที่เคยเก็บได้ 800-900 ฟอง เหลือเพียง 60 ฟอง จากผลกระทบจาการภัยแล้งขาดน้ำการเลี้ยงดูเป็ดไล่ทุ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า สภาพแม่น้ำยมที่บริเวณบ้านวังปลาทู ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนของจังหวัดพิจิตร แม่น้ำยม แห้งจนเห็นผืนทรายตลอดสายของแม่น้ำยมต่อเนื่อง มองบนพื้นราบคล้ายใกล้เคียงกับทะเลทรายเนื่องจากมองเห็นท้องแม่น้ำที่เป็นผืนทรายเป็นทางยาวตลอดทั้งลำน้ำ โดยเฉพาะในช่วงกลาง ผืนทรายจะร้อนจัดคล้ายกับทะเลทราย ส่งผลกระทบระบบนิเวศในพื้นที่แม่น้ำโดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และส่งผลกระทบกับเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาที่ไม่มีน้ำต้นทุนในการทำการเกษตร
ขณะที่โรงสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ที่คอยสนับสนุนการสูบน้ำในแม่น้ำยม ยังคงหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ เนื่องจากไม่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำยม ส่งผลทำให้เกษตรกรชาวนาทั้งสองฝั่งแม่น้ำยม ยังไม่สามารถลงมือทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนในแม่น้ำยม