รีเซต

อ่างเก็บน้ำโคราช ปริมาณเหลือแค่ 54% ลุ้นลานีญาทำฝนตกช่วงเม.ย.

อ่างเก็บน้ำโคราช ปริมาณเหลือแค่ 54% ลุ้นลานีญาทำฝนตกช่วงเม.ย.
TNN ช่อง16
8 กุมภาพันธ์ 2567 ( 13:54 )
41

วันนี้ ( 8 ก.พ. 67 )นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ของ จ.นครราชสีมาว่า เนื่องจากปีที่แล้วเกิดปัญหาปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 30% ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมากลายเป็นน้ำท่าไหลลงอย่างเก็บน้ำต่างๆ ลดน้อยลงตามไปด้วย


จากข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.พ.67 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 660.670 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 54.30 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 1,216.72 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยแยกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมกันอยู่ 475.614 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53.71 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 885.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 157.286 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50.01 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314 ล้านลูกบาศก์เมตร


อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 101.331 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 65.37 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 155 ล้านลูกบาศก์เมตร, อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 78.407 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55.61 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 138.590 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50.40 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 275 ล้านลูกบาศก์เมตร


ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมกันอยู่ 185.056 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55.87 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 331.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุกักเก็บอยู่ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 2.472 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28.41 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 8.70 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีอ่างที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุกักเก็บ จำนวน 8 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ, อ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อ.ประทาย, อ่างเก็บน้ำห้วยบง อ.ชุมพวง, อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด อ.พิมาย, อ่างเก็บน้ำห้วยหิน อ.เสิงสาง, อ่างเก็บน้ำห้วยเตย อ.เสิงสาง และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง


จากปริมาณน้ำกักเก็บที่เหลืออยู่นี้ ทางโครงการชลประทานนครราชสีมา ยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร โดยเน้นไปที่ลำดับความสำคัญของการใช้น้ำเป็นหลัก ได้แก่ อันดับที่ 1 น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค อันดับที่ 2 น้ำสำหรับใช้หล่อเลี้ยงระบบนิเวศ และอันดับที่ 3 น้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งแต่ละอ่างเก็บน้ำก็จะมีคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ หรือ JMC อยู่ 


ทางโครงการชลประทานฯ จะมีการประชุมร่วมกับ JMC เพื่อพิจารณาถึงการบริหารจัดการน้ำร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน เพราะผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่จะรู้ดีว่ามีความต้องการใช้น้ำในปริมาณเท่าใดบ้าง ซึ่งจะพิจารณาการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรกก่อน ดังนั้นน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจึงไม่มีปัญหาแน่นอน 


ส่วนน้ำสำหรับการเกษตรและหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ จะต้องบริหารจัดการตามความเหมาะสม ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์เอลนีโญ น่าจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงลานีญา หรือช่วงที่มีฝนตกลงมามาก ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินสถานการณ์ฝนฟ้ากันอย่างใกล้ชิดต่อไป


สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งหลายคนเป็นห่วงว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคเพียงพอหรือไม่นั้น เรื่องนี้ทางโครงการชลประทานนครราชสีมา ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา หรือ ปภ. วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนหมดฤดูฝนที่ผ่านมา โดยมีการเตรียมหาแหล่งน้ำดิบสำหรับกักเก็บไว้เพื่อใช้ทำน้ำประปาหมู่บ้าน และชุมชน ครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ อย่างเช่นเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุดของจังหวัด และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของจังหวัด ก็ได้มีการวางแผนสำรองน้ำไว้แล้ว จำนวน 60 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นการดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว เป็นหลัก และดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี เก็บไว้สำรองอีกแห่งด้วย 


ขณะเดียวกันการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภครอบนอกเขตเทศบาลนครนครราชสีมา หรือต่างอำเภอ ก็ได้มีการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางไปสำรองไว้ในแหล่งน้ำดับของการประปาส่วนภูมิภาคแต่ละพื้นที่พร้อมหมดแล้ว อย่างเช่นเขตอำเภอห้วยแถลง ก็ได้มีการใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกลของกรมชลประทาน ทำการสูบน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ ไปกักเก็บไว้ในบ่อพักน้ำดับของการประปาส่วนภูมิภาคห้วยแถลงไว้เรียบร้อยแล้ว 


นอกจากนี้ในส่วนของประปาหมู่บ้าน และชุมชน ก็ได้มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เข้าไปกักเก็บไว้ในบ่อน้ำดับของหมู่บ้าน และชุมชนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ต้องมาประเมินร่วมกันอีกว่าแต่ละที่มีปริมาณน้ำดิบเพียงพอหรือไม่ เพราะพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีบริเวณกว้างขวางมาก ย่อมจะมีบางหมู่บ้าน บางชุมชนที่มีปริมาณน้ำดับไม่เพียงพอ ก็จะทำงานบูรณาการร่วมกับกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป.


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง