รีเซต

ปฏิรูปการค้าสหภาพยุโรป-ไทย หอการค้ายุโรปประเทศไทยเปิดเผยอนาคตของการเจรจาการค้าเสรี ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

ปฏิรูปการค้าสหภาพยุโรป-ไทย หอการค้ายุโรปประเทศไทยเปิดเผยอนาคตของการเจรจาการค้าเสรี ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2566 ( 23:51 )
77
ปฏิรูปการค้าสหภาพยุโรป-ไทย หอการค้ายุโรปประเทศไทยเปิดเผยอนาคตของการเจรจาการค้าเสรี ยกระดับเศรษฐกิจประเทศ

ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา อียูระบุว่า เปิดกว้างในการเจรจา ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ขณะที่ ไทยเองก็มุ่งที่จะจัดทำเอกสารความเข้าใจร่วมกัน เพื่อใช้เป็นกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ร่วมกัน ซึ่งจะครอบคลุมการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุน รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อของรัฐบาล และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ


สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ หรือ EACB จึงได้จัดเวทีสัมมนา “ก้าวต่อไปของการเจรจาการค้าเสรี” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเผยให้เห็นถึงประโยชน์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงความคืบหน้าล่าสุดของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอียู-ไทย ซึ่งการเจรจาครั้งแรกของทั้ง 2 ฝ่าย จะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ 


---อนาคตการเจรจาการค้าเสรีอียู-ไทย---


นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2023 อียูและไทยได้ประกาศกลับมาเริ่มต้นเจรจา FTA ใหม่อีกครั้ง ให้มีความมุ่งมั่น ทันสมัย และสมดุล โดยมีความยั่งยืนเป็นแกนหลักของข้อตกลงดังกล่าว การประกาศครั้งนี้ เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการค้าของอียู เป็นการปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเชิงกลยุทธ์ของอียูกับภูมิภาคนี้ 


ฟาริด บิดโกลี ประธานแห่ง EABC เผยว่า EABC จะให้คุณค่าต่อการดำเนินการเจรจาการค้าเสรีจากมุมมองของภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการกลับมาเริ่มใหม่ของการเจรจาการค้าเสรีระหว่างอียู และไทยครั้งนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย 


เดวิด เดลี่ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงสามเสาหลักของข้อตกลงการค้าเสรีอียู-ไทย ดังนี้ 


1. การเข้าถึงตลาดของสินค้า บริการ การลงทุน และระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

2. ข้อผูกพันด้านกฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกของการค้า และยกระดับสนามแข่งขันระหว่างหุ้นส่วน ซึ่งรวมถึงการขจัดอุปสรรคด้านเทคโนโลยีในการค้า และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI 

3. ความยั่งยืน และการปกป้องสิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนใหม่ที่สำคัญคือ แนวทางปฏิบัติด้านกฎระเบียบที่ดีและความร่วมมือด้านกฎระเบียบ 


ทั้งนี้ อียูและไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น มูลค่าการค้าสินค้าอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านยูโร หรือราว 1.59 ล้านล้านบาท ในปี 2022 ขณะที่ มูลค่าการค้าภาคบริการอยู่ที่ 8 พันล้านยูโร หรือราว 3 แสนล้านบาทในปี 2020 โดยอียูเป็นคู่ค้าที่ใหญ่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของไทย นอกจากนี้ อียูยังเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ในไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศ 


อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึงประเด็นสำคัญ และความท้าทายรอบด้านของข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงความซับซ้อนของกระบวนการเจรจา เธอได้เน้นย้ำถึงความความจำเป็นในการทำงานร่วมกัน และการประนีประนอม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย และยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนของประชาคมธุรกิจในไทยที่มีต่อข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี 19 ฉบับ และอีกมากมายที่กำลังดำเนินการ 


นอกจากนี้ เธอยืนยันว่า แม้ข้อตกลงการค้าเสรีอียู-ไทย จะนำมาซึ่งความท้าทาย แต่การบรรลุข้อตกลงนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลไทย โดยงานวิจัยของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า การเปิดเสรีภาคบริการมีส่วนช่วยในการยกระดับ GDP เพิ่มขึ้น 5%

  

---ผลประโยชน์และความเสี่ยงจาก FTA---


ผลประโยชน์ของการค้าเสรีของอียูและไทย จะทำให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจสำหรับการลงทุนเทคโนโลยีระดับสูง และยกระดับความสามารถของห่วงโซ่อุปทานไทย เพื่อสนับสนุนการผลิตของผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสสำหรับภาคบริการ ที่อาจจะเป็นส่วนสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีนี้

 

ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโสแห่งสถาบันการวิจัยแห่งประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวถึงผลประโยชน์ว่า ข้อตกลงมีศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการบริโภคลดลงตามด้วย โดยสิ่งที่อียูและไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรในแต่ละประเทศสมาชิก, เพิ่มประสิทธิการผลิตสินค้า และบริการ รวมถึงเพิ่มความสุขสบายให้แก่ผู้บริโภค เช่น สินค้าราคาถูก, คุณสินค้าที่ดีขึ้น, มีสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น เป็นต้น


จากการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา หรือ IFD ชี้ว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปจะช่วยเพิ่ม GDP ของไทยได้ถึง 1.63 %, เพิ่มการนำเข้าได้มากถึง 3.42 % ต่อปี และเพิ่มการส่งออกได้มากถึง 3.43 % ต่อปี นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยาง พลาสติก อาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องจักรและชิ้นส่วน การก่อสร้าง และเครื่องหนัง 


ขณะเดียวกัน สินค้าไทยที่น่าจะได้รับผลกระทบจาก FTA ได้แก่ น้ำตาล ผัก ผลไม้ และถั่ว รวมถึงยังมีข้อกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยา รวมถึงพันธุ์พืชของข้อตกลงนี้


ดร.วิศาล ได้กล่าวถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลงครั้งนี้ เช่น เรื่องของอำนาจต่อรองที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เล็ก เมื่อเทียบกับอียู ทำให้มีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าในการเจรจา, ความเข้าใจผิดในการเจรจาการค้า เพราะประชาชนมักมีอคติ และมีการรับรู้แบบผิด ๆ ว่า การส่งออกดี แต่การนำเข้าเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับบางประเทศ, ความเข้าใจผิดเกี่ยวการลดอุปสรรคทางการค้าว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่แข่ง และสุดท้ายคือ การขาดความพยายามในการปรับโครงสร้างและการสนับสนุน


นอกจากนี้ ดร.วิศาล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำให้แน่ใจต่อการกระจายผลประโยชน์เหล่านี้อย่างเป็นธรรม ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ด้วยการทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหมดสอดคล้องกัน ผ่านการเปิดเสรีการค้า ระดับฝ่ายเดียวให้กว้างและลึกที่สุด, ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และการเงินอย่างเหมาะสมต่อภาคธุรกิจ และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม และดำเนินการเปิดเสรีการค้าพหุภาคี ระดับฝ่ายเดียว ตลอดจนความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินที่เหมาะสม


อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนานี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องร่วมกัน คือ การปฏิรูปเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อตอบสนองความคาดหวังของข้อตกลงการค้าเสรี เช่น การปฏิรูปที่เป็นประโยชน์สำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งโอกาสของข้อตกลงการค้าเสรีนี้ จะเป็นการเปิดประตูสู่ประโยชน์นั้น


---ก้าวต่อไปของอียูและไทย---


อียู และไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี และมุ่งมั่นจัดการเจรจารอบแรกที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยอียูได้มอบหมายการประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเจรจา, ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสังคมที่เป็นไปได้ของข้อตกลง พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเพิ่มประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขณะเดียวกัน ก็จะลดสิ่งที่อาจเป็นผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด


ขณะที่ ในรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ไทยได้พิสูจน์แล้วว่า คือประเทศที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำหรับพหุภาคีระดับภูมิภาคผ่านการก่อตั้งอาเซียน และผ่านการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เชื่อว่า ไทยจะสามารถต่อยอดสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดความทันสมัย, ครอบคลุม, มีคุณภาพสูง และระเบียบการค้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปได้ และสามารถแข่งขันในระดับโลกกับพันธมิตรสหภาพยุโรปได้ 


ทั้งนี้ การขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมของอียูที่มีต่อไทย ผ่านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอีกครั้ง อาจจะเป็นการปลดล็อกที่ดีต่อผลประโยชน์ครั้งใหญ่ทางด้านการค้า และการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่าย 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: EABC


ข้อมูลอ้างอิง:

EABC (1), EABC (2), European Commission (1)European Commission (2)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง