รีเซต

นักศึกษา MIT พัฒนาอุปกรณ์เปลี่ยนสีสันสิ่งของในชีวิตประจำวันแบบดิจิทัล

นักศึกษา MIT พัฒนาอุปกรณ์เปลี่ยนสีสันสิ่งของในชีวิตประจำวันแบบดิจิทัล
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2567 ( 09:09 )
26
นักศึกษา MIT พัฒนาอุปกรณ์เปลี่ยนสีสันสิ่งของในชีวิตประจำวันแบบดิจิทัล

โลกแห่งเสื้อผ้าและการออกแบบ อาจจะมีของเล่นใหม่ ที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนสีสันของเสื้อผ้าตัวเดิมได้ทุกวัน หลังนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ได้ออกแบบอุปกรณ์และระบบไฟแบบพกพา ที่สามารถเปลี่ยนสีบนพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ ได้ตามต้องการ 


อุปกรณ์นี้มีชื่อว่า พอร์ตาโครม (PortaChrome) ประกอบด้วยตัวฐาน ชั้นหลอดไฟ LED แบบอัลตราไวโอเลต ไฟสี RGB สีแดง เขียว และน้ำเงิน และชั้นซิลิโคนที่ควบคุมแสงให้ส่องสว่างไปยังพื้นผิวได้เหมาะสม โดยจะเปลี่ยนวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นจอแสดงผลแบบไดนามิกได้อย่างรวดเร็ว 


ในการเปลี่ยนสีสันของสิ่งต่าง ๆ สิ่งของเหล่านั้น จะต้องถูกเคลือบด้วยสีย้อม โฟโตโครมิก (photochromic) หรือหมึกที่มองไม่เห็น ซึ่งจะเปลี่ยนสีไปตามรูปแบบของแสงได้ จากนั้นผู้ใช้งาน ก็จะสามารถดิไซน์สีสันของสิ่งที่ต้องการ แล้วส่งไปยังอุปกรณ์ผ่านบลูทูธ เมื่อเปิดใช้งานอุปกรณ์นี้ ระบบภายใน ก็จะช่วยปรับสีสัน บนวัตถุที่เลือกไว้ โดยแสดงผลแต่ละพิกเซลให้ตรงกับดิไซน์และสีที่ต้องการ โดยระบบดังกล่าว สามารถเปลี่ยนสีของวัตถุได้โดยเฉลี่ย ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที


ทีมพัฒนายกตัวอย่างการใช้งานว่า ในอนาคตเสื้อผ้าของเราอาจจะสามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ บนพื้นผิวได้ เช่นถ้าไปเดินป่า และสวมเสื้อที่ย้อมด้วยโฟโตโครมิก ระบบก็อาจจะพัฒนาให้สามารถแสดงข้อมูลสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ หรือความสูงของพื้นที่ที่กำลังเดินทาง ไปบนเสื้อ รวมถึงยังสามารถใช้ระบบนี้ในการเปลี่ยนสีสันของสิ่งรอบตัวใหม่ เพื่อให้เข้ากับชุดต่าง ๆ ที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย


ทีมวิจัยหวังว่าในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะทำให้เราอัปเดตสีสันสิ่งของโดยเฉพาะเสื้อผ้า ให้เปลี่ยนสีแบบดิจิทัลได้ ซึ่งอาจจะช่วยยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าต่าง ๆ และอาจจะช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจาก “Fast fashion” หรืออุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นที่หมุนเวียนอย่างรวดเร็ว ให้สวมใส่ได้นานขึ้น


ข้อมูลจาก interestingengineeringnews.mit.eduhcie.csail.mit.edu

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง