นักวิทย์จีน-สหรัฐฯ คาดวัตถุใหญ่ยักษ์ในเนื้อโลก ผลพวงการก่อตัวของดวงจันทร์
Xinhua
3 พฤศจิกายน 2566 ( 18:13 )
59
(แฟ้มภาพซินหัว : ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเหนือกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 26 พ.ค. 2021)
เซี่ยงไฮ้, 3 พ.ย. (ซินหัว) -- ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากจีนและสหรัฐฯ ได้ทำการค้นพบครั้งสำคัญว่าสองวัตถุขนาดใหญ่ที่ฝังอยู่ในชั้นเนื้อส่วนลึกของโลกอาจเป็นวัตถุอันตกทอดมาจากการก่อตัวของดวงจันทร์เมื่อราว 4.5 พันล้านปีก่อน
ทฤษฎีชี้นำที่ว่าดวงจันทร์ก่อตัวเมื่อดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวอังคารที่ชื่อ "ธีอา" (Theia) พุ่งชน "ไกอา" (Gaia) หรือโลกยุคแรก โดยการพุ่งชนนั้นเหวี่ยงส่วนบนสุดของโลกเข้าสู่อวกาศ และทำให้เศษซากรวมตัวอีกครั้งจนก่อตัวเป็นดวงจันทร์คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา และหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้เผยแพร่หลักฐานใหม่ของสมมติฐานนี้ผ่านวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ที่ผ่านมาทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเสนอว่าสองวัตถุแปลกขนาดเท่าแผ่นทวีปที่มีความเร็วคลื่นสั่นสะเทือนต่ำในชั้นเนื้อส่วนล่างสุดของโลก ซึ่งอยู่ข้างใต้ทวีปแอฟริกาและมหาสมุทรแปซิฟิก อาจเกิดจากวัตถุเนื้อโลกธีอา (TMMs) ซึ่งหนาแน่นกว่าเนื้อโลกยุคแรกเริ่มราวร้อยละ 2-3.5การศึกษาที่ใช้แบบจำลองการพุ่งชนครั้งใหญ่ (Giant Impact) พบว่าเศษส่วนของเนื้อโลกธีอาอาจกระจายและฝังตัวอยู่ในชั้นเนื้อส่วนล่างอันแข็งแกร่งของโลกยุคแรกเริ่ม หลังจากเกิดการพุ่งชนครั้งใหญ่ในการก่อตัวของดวงจันทร์ โดยวัตถุอันตกทอดจากเนื้อโลกธีอาเฉกเช่นหินดวงจันทร์นั้นอุดมด้วยแร่เหล็ก ทำให้มีความหนาแน่นมากกว่าวัตถุโดยรอบวัตถุหนาแน่นที่มีขนาดหลายสิบกิโลเมตรอันเป็นผลพวงจากการพุ่งชนอาจฝังจมและสะสมเป็นเสาอุณหเคมีบนแกนกลางของโลกในเวลาถัดมา และคงอยู่มาถึงปัจจุบันจนกลายเป็นผลพวงตามธรรมชาติจากการพุ่งชนครั้งใหญ่ในการก่อตัวของดวงจันทร์นอกจากนั้นผลการศึกษานี้ยังมอบมุมมองใหม่ต่อการทำความเข้าใจโครงสร้างภายในของโลก วิวัฒนาการระยะยาวของโลก และกระบวนการก่อตัวของระบบสุริยะชั้นในเติ้งหงผิง ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษา ระบุว่าการพุ่งชนครั้งใหญ่ในการก่อตัวของดวงจันทร์ดูเหมือนจะเป็นต้นกำเนิดความแตกต่างของเนื้อโลกยุคแรกเริ่ม และนับเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาของโลกตลอดระยะเวลา 4.5 พันล้านปีที่ผ่านมา โดยการศึกษานี้อาจมอบเบาะแสเกี่ยวกับความสามารถอยู่อาศัยได้ของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา