รีเซต

ยูเอ็น มาแล้ว! ส่งจดหมาย ทวงคำตอบ "วันเฉลิม" ถูกอุ้มหายในกัมพูชา

ยูเอ็น มาแล้ว! ส่งจดหมาย ทวงคำตอบ "วันเฉลิม" ถูกอุ้มหายในกัมพูชา
ข่าวสด
15 มิถุนายน 2563 ( 13:54 )
176

 

ยูเอ็น มาแล้ว! ส่งจดหมายถึงกัมพูชา ให้คำตอบ "วันเฉลิม" ถูกอุ้มหาย

วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวความคืบหน้าการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากการรัฐประหาร 2557 จากกรุงพนมเปญของกัมพูชา ซึ่งญาติและเพื่อนที่ติดตามข่าวคราวคาดว่าเป็นการอุ้มหาย ผ่านมากว่า 10 วันแล้ว ซึ่งนับตั้งแต่วันที่หายตัวไป กระแส #Saveวันเฉลิม ได้เกิดขึ้นในทวิตเตอร์

 

และองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ทางการไทยและกัมพูชาติดตามและสืบสวนเรื่องนี้ แม้ทางการของ 2 ประเทศจะออกมาเชิงปฏิเสธในการติดตามเรื่องดังกล่าวก่อนถูกกระแสกดดันให้ทางการไทยส่งหนังสือสอบถามถึงรัฐบาลกัมพูชา ล่าสุด สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์) ได้ส่งจดหมายซึ่งมีการขีดดำส่วนที่คาดว่าเป็นผู้ร้อง ใจความระบุว่า

 

“ผมได้เกียรติในการตอบกลับตามที่ท่านร้องขอในเรื่องด่วนตามมาตรา 30 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (ซีอีดี) ได้แจ้งถึงคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในเรื่องเกี่ยวกับการบังคับสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

 

โดยคำร้องนี้ ได้รับการบันทึกไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน โดยคณะกรรมการซีอีดี ตามบทบัญญัติในมาตรา 30 ของอนุสัญญาฯ จากการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ คณะกรรมการฯได้ส่งจดหมายทางวาจาไปยังประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ว่าให้คำร้องดังกล่าวเป็นเรื่องฉุกเฉินตามบทบัญญัติมาตรา 30 โดยให้ดำเนินการดังนี้

 

“เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น) ได้ส่งคำชมไปยังราชอาณาจักรกัมพูชาในฐานะสมาชิกถาวรถึงสำนักงานยูเอ็นในเจนีวา และเป็นเกียรติในการส่งเรื่องเกี่ยวกับคำร้องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนของคณะกรรมการซีอีดี ตามบทบัญญัติมาตรา 30 เกี่ยวกับเรื่องการบังคับให้สูญหาย ของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”

 

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอช ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้รับหนังสือสอบถามจากสถานทูตไทยแล้ว รวมทั้งคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) องค์การสหประชาชาติก็รับเรื่องนี้ไว้แล้ว พร้อมทั้งขีดเส้นรัฐบาลกัมพูชาต้องชี้แจงคำตอบภายใน 24 มิ.ย. จึงไม่มีข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่รับรู้ หรือไม่สอบสวน

ทั้งนี้ มาตรา 30 ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (ซีอีดี) ระบุว่า

1. ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ญาติหรือผู้แทนทางกฎหมายของผู้สูญหาย ที่ปรึกษาหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้สูญหาย หรือบุคคลใดที่มีส่วนได้เสียที่สมเหตุสมผล อาจยื่นข้อร้องเรียนให้มีการติดตามหาผู้สูญหายต่อคณะกรรมการได้

2. หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่าข้อร้องเรียนกรณีเร่งด่วนที่ได้ยื่นภายใต้วรรค 1 ของข้อนี้
(ก) มิได้เป็นข้อกล่าวหาเลื่อนลอยอย่างชัดแจ้ง
(ข) มิได้เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในทางที่ผิด
(ค) ได้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน
ในกรณีที่มีช่องทางที่จะกระทำได้
(ง) มิได้เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ
(จ) มิได้อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยกระบวนการระหว่างประเทศอื่น หรือการระงับข้อพิพาทอื่นที่มี
ลักษณะคล้ายกัน คณะกรรมการจักได้ขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว ภายในกรอบเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

3.เมื่อคณะกรรมการพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตามข้อ 30 วรรค 2 อาจพิจารณานำส่ง ข้อเสนอแนะหรือคำร้องต่อรัฐภาคีเพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็น ซึ่งรวมไปถึงมาตรการชั่วคราว เพื่อ ติดตามและคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญานี้ภายในเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ โดยคณะกรรมการจะแจ้งบุคคลที่ยื่นข้อร้องเรียนกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่ได้นำส่งต่อรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีดังกล่าวในโอกาสแรก

4.คณะกรรมการจะประสานงานกับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องตราบใดที่ยังไม่ปรากฏสถานะที่ชัดเจนของบุคคล ตามคำร้องเรียน และจะแจ้งข้อมูลให้บุคคลที่ยื่นคำร้องเรียนเพื่อทราบอย่างต่อเนื่อง


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง