สร้างฝายลดปนเปื้อน สารพิษในแม่น้ำกก ดร.เสรีชี้ แก้ปัญหาได้แต่ไม่ทั้งหมด

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โพสต์คำแนะนำ ถึงแนวคิดการแก้ปัญหาน้ำท่วมคุณภาพน้ำกกน้ำสายเพื่อความยั่งยืน ระบุว่า การสร้าง ฝายตกตะกอน สามารถช่วยลดการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะหนักในน้ำได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในรูปแบบที่จับอยู่กับอนุภาคแขวนลอย เช่น ตะกอนดิน หรืออินทรียวัตถุ แต่ ไม่สามารถขจัดสารหนูหรือโลหะหนักที่อยู่ในรูปละลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ร่วมกับระบบอื่นด้วย โดยต้องหาพื้นที่ชุ่มน้ำเทียมโดยออกแบบให้มีขนาดและความลึกที่เหมาะสม อาจใช้พืชน้ำ เช่น หญ้าธูปฤาษี จอก ผักตบ หรือแหน โดยรากพืช และจุลินทรีย์ในดินช่วยดูดซับหรือเปลี่ยนรูปสารหนูและโลหะหนักให้อยู่ในรูปที่ตกตะกอนได้ มีประสิทธิภาพดีในพื้นที่ที่มีการไหลของน้ำช้า และควรใช้คาร์บอนหรือชาร์ถ่านจากวัสดุชีวมวล เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เป็นวัสดุกรองต่อจากฝายตกตะกอน
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์เสรี ระบุด้วยว่า การตัดสินใจ จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับระบบป้องกันน้ำท่วม และคุณภาพน้ำด้วย แบบระบบไฮบริด ที่มีทั้ง ฝาย คัน พื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบกรอง ซึ่งการสร้างแบบจำลองทางกายภาพ และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ มีความจำเป็น เพราะจะนำไปสู่การตัดสินใจที่แม่นยำ ถูกต้อง และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
ซึ่งรองศาสตราจารย์เสรี ได้ประเมินแนวคิดระบบป้องกันน้ำท่วมโดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างแบบจำลองทางกายภาพเพื่อยืนยันผลให้ตรงกัน ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพ ชุมชนคนเชียงรายต้องเร่งผลักดันให้มีความพร้อม 4 พร้อม คือ 1.ข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษา 2.แบบ 3.ราคาประเมิน และ 4.การอนุญาติใช้พื้นที่ ถ้าทำครบสี่อย่างมั่นใจว่าจะเดินหน้าได้