ใครชอบใส่หน้ากากผ้าซ้ำ? นักวิจัยชี้ ไม่ซักบ่อย ๆ อาจนำไปสู่ 'โรคทางเดินหายใจ-ผิวหนัง' ได้
นักวิจัยเตือนผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ จะต้องหมั่นซักหน้ากากบ่อย ๆ เพราะถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี แม้จะไม่ติดโควิด แต่อาจทำให้ติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือเกิดโรคผิวหนังได้
หน้ากากใช้นาน ๆ เอื้อจุลินทรีย์เติบโต
นักจุลชีววิทยาเปิดเผยผลวิจัยว่า สภาพแวดล้อมขนาดเล็ก และอุ่นชื้นใต้หน้ากากอนามัย มีแนวโน้มเอื้อให้จุลินทรีย์เติบโตได้
ผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ Eurofins ที่ได้จากการเปรียบเทียบหน้ากากอนามัยทั้งแบบใช้ซ้ำ และแบบใช้แล้วทิ้ง ที่ถูกสวมใส่เป็นเวลา 6 ชั่วโมง และ 12 ชั่วโมง พบว่า หน้ากากอนามัยแบบสวมใส่ซ้ำเป็นเวลานาน มีจุลินทรีย์จากผิวหนังและจากละอองทางเดินหายใจมากกว่าแบบที่ใช้แล้วทิ้ง
แม้จะไม่พบแบคทีเรีย ‘สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส’ (Staphylococcus aureus) ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง และแบคทีเรีย ‘ซูโดโมนาส แอรูจิโนซา’ (Pseudomonas aeruginosa) ที่ทำให้เกิดผดผื่นในตัวอย่างหน้ากากที่ทำการทดสอบ
แต่นักวิจัยพบจำนวนยีสต์ เชื้อรา และแบคทีเรียจำนวนมากกว่า ในหน้ากากที่สวมใส่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง และในหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ
วัสดุหน้ากากมีส่วนกักเก็บแบคทีเรีย
นักวิจัยจะทำการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียที่พบบนหน้ากาก และศึกษาว่าแบคทีเรียดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรค หรือปัญหาด้านผิวหนังได้หรือไม่
ศาสตราจารย์วิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ระบุว่า “เราถูกรายล้อมด้วยจุลินทรีย์ ทั้งในสิ่งแวดล้อมรอบตัวและแม้แต่ในระบบย่อยอาหารของเรา เช่น ปากและลำไส้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะพบจุลินทรีย์บนหน้ากาก”
ดอกเตอร์ โจเอล ลี ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ มหาวิทยาลัยนันยางโพลีเทคนิก ระบุว่า วัสดุของหน้ากากมีส่วนในการกักเก็บแบคทีเรีย หลังจากใช้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
หน้ากากใช้ซ้ำ หรือใช้แล้วทิ้ง อันไหนดีกว่า?
ความแตกต่างสำคัญระหว่างหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง และแบบใช้ซ้ำ คือ วัสดุชั้นในที่ใกล้กับปากมากที่สุด
หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งสามารถกรองแบคทีเรียและระบายอากาศได้ดีกว่า ขณะที่หน้ากากแบบใช้ซ้ำทำจากวัสดุที่ถักทอขึ้น จึงมีช่องว่างระหว่างเส้นใยมากกว่า ทำให้การกรองแบคทีเรียมีประสิทธิภาพต่ำกว่า
ขณะที่ ผลการทดสอบหน้ากากแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งถูกสวมใส่มาแล้ว 6 ชั่วโมง โดยไม่ได้ซักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่ามีแบคทีเรียยีสต์และเชื้อราหลงเหลืออยู่
ดร.ลี ระบุว่า หน้ากากที่ไม่ได้ซักบ่อย ๆ สามารถดักจับฝุ่น สิ่งสกปรก เหงื่อและจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคืองผิวหนัง หรือการติดเชื้อได้
ระวัง ”แบคทีเรียฉวยโอกาส"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จอห์น เฉิน จากภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันของโรงเรียนแพทย์ Yong Loo Lin ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า แม้โดยส่วนใหญ่แบคทีเรียบนหน้ากาก จะไม่ส่งผลร้ายแรง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ "แบคทีเรียฉวยโอกาส"
แบคทีเรียดังกล่าวอาศัยอยู่บนผิวหนังที่มีสุขภาพดี สามารถเติบโตได้ในระดับสูง หากหน้ากากอนามัยสกปรก และทำให้เกิดอาการแพ้เล็กน้อยจนถึงรุนแรง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ และการติดเชื้อในจมูกได้
เนื่องจากเป็นการยากที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดว่า มีแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอยู่บนหน้ากากอนามัยหรือไม่ และแม้ว่าจะไม่ใช่จุลินทรีย์ทุกชนิดที่เป็นอันตรายก็ตาม
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า ให้ซักหน้ากากอนามัยบ่อย ๆ หรือซักทุกครั้งหลังการใช้งานก็ดี
เรื่อง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Tusik Only