รีเซต

ชาวบ้านว่างงานช่วงโควิดหันจับปลาขายเขื่อนลำตะคองส่งร้านอาหาร

ชาวบ้านว่างงานช่วงโควิดหันจับปลาขายเขื่อนลำตะคองส่งร้านอาหาร
มติชน
20 พฤษภาคม 2563 ( 11:09 )
284
ชาวบ้านว่างงานช่วงโควิดหันจับปลาขายเขื่อนลำตะคองส่งร้านอาหาร

 

วันที่ 20 พฤษภาคม สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่และเป็นเขื่อนหลักของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองวิกฤติอย่างหนัก ลดระดับลงอย่างมาก โดยปริมาณน้ำปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 92 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 29.50 % แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 24% เท่านั้น ซึ่งเหลือต่ำกว่าปีที่แล้วในห้วงเวลาเดียวกันเกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้ถนนมิตรภาพสายเก่า ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นทางยาว จนชาวบ้านสามารถนำวัวควายลงไปกินหญ้าที่ขึ้นในเขื่อนได้ พร้อมกับพากันทอดแหจับปลาในเขื่อนกันอย่างคึกคัก

 

ซึ่งน้ำต้นทุนที่ไหลเข้าเขื่อนลำตะคอง จากน้ำตกเหวสุวัต บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลลงมาผ่านอำเภอปากช่องหลายตำบล เช่น ตำบลหมูสี หนองน้ำแดง ขนงพระ เขตเทศบาลเมืองปากช่อง ตำบลปากช่อง ตำบลหนองสาหร่าย และตำบลจันทึก ลงไปกักเก็บไว้ในเขื่อนลำตะคอง เพื่อให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน บริหารจัดการก่อนแจกจ่ายไปให้ประชาชนใน 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนคราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้ใช้ผลิตประปาไว้ให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภค ปัจจุบันพบว่า ปริมาณน้ดิบที่ไหลมาจากเข้าใหญ่ก็มีน้อยด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องจ่ายน้ำอย่างรัดกุมเพื่อให้เพียงพอใช้จนกว่าจะมีน้ำฝนมาเติมลงในเขื่อนอีกครั้ง

 

แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่มีงานทำ และขาดรายได้ เนื่องจากผลกระทบโควิด-19แพร่ระบาด ได้ออกมาทอดแหจับปลาในเขื่อนลำตะคองกันจำนวนมากตามวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อนำมาประกอบอาหารยังชีพ ขณะที่บางส่วนจับได้ปลาขนาดใหญ่ ก็จะนำไปขายในตลาดหรือร้านอาหารริมเขื่อนลำตะคอง ประกอบเป็นเมนูสดใหม่หลากหลายให้ผู้ที่สัญจรผ่านถนนมิตรภาพแล้วแวะพักได้รับประทานกัน ทั้งปลาบึก ปลาคัง ปลาเนื้ออ่อน และอีกหลายชนิดที่เป็นปลาธรรมชาติรสชาติดีกว่าปลาเลี้ยง เตรียมไว้บริการลูกค้าที่แวะมาพักระหว่างเดินทาง ซึ่งผู้ค้าหลายรายบอกว่า รู้สึกดีใจที่รัฐบาลเห็นใจผ่อนปรนให้เปิดร้านขายอาหารได้อีกครั้ง เพราะต้องทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมาร่วม 2 เดือน ไม่มีเงินใช้ ต้องเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการชั่วคราว กลับมาเปิดร้าได้อีก เชื่อว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ ทำให้มีเงินหมุนเวียนมาใช้จ่าย คนในพื้นที่ก็จะมีรายได้ตามไปด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง