รีเซต

กองทัพบกไทยทดสอบยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-1G ระยะไกล 150 กิโลเมตร ความแม่นยำสูง

กองทัพบกไทยทดสอบยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-1G ระยะไกล 150 กิโลเมตร ความแม่นยำสูง
TNN ช่อง16
1 มิถุนายน 2567 ( 15:37 )
46
กองทัพบกไทยทดสอบยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-1G ระยะไกล 150 กิโลเมตร ความแม่นยำสูง

กองทัพบกไทยและสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ประสบความสำเร็จในการทดสอบยิงจรวดหลายลำกล้อง DTI-1G ระยะไกลที่มีความแม่นยำสูง ในระหว่างวันที่ 23-27 เมษายนที่ผ่านมา โดยจรวดสามารถยิงเข้าเป้าทุกนัดจะระยะ 150 กิโลเมตร เตรียมเดินหน้าสายการผลิตเพื่อใช้งานในกองทัพไทย ลดการสั่งซื้ออาวุธจากต่างประเทศ และใช้การพัฒนาอาวุธในประเทศมากขึ้น


โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดหลายลำกล้องนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ DTI-1G แบ่งเป็น 2 เฟส โดยในเฟส 1 เป็นการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี จาก สปจ. และเฟส 2 เป็นการนำความรู้ในเฟส 1 มาเป็นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ให้สามารถออกแบบและพัฒนารถฐานยิงจรวด รถบรรทุกลูกจรวด รถควบคุมบังคับบัญชา และ ระบบส่งกำลังและซ่อมบำรุง โดย DTI ได้ร่วมกับเอกชนภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ เน้นการพึ่งพาพันธมิตรหน่วยเจ้าของเทคโนโลยีต่างประเทศเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


การทดสอบจรวดหลายลำกล้องนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ DTI-1G ในครั้งนี้อยู่ในเฟส 1 จรวดใช้การพัฒนาขึ้นมาจากจรวดรุ่นเก่า DTI-1 โดยใช้เวลาในการพัฒนานานกว่า 10 ปี โครงสร้างจรวดมีความยาวลูกจรวด 6.980 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลูกจรวด 302 มิลลิเมตร ลำกล้องจรวดติดตั้งบนรถบรรทุกขนาด 12 ล้อ เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งยิงได้ยากต่อการถูกตรวจพบตำแหน่งโดยฝ่ายตรงข้าม สำหรับระบบนำวิถีของจรวดคาดว่าใช้ระบบ GPS/INS (Global Positioning System/Inertial Navigation System) 


หลักเกณฑ์ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ และประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการร่วมกันของ สทป. และ ทบ. ในหลายมิติ ดังนี้ 

1. ช่วยพิสูจน์ยืนยันประสิทธิภาพ ในการใช้งานระบบจรวด DTI-1G ที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน

2. ช่วยพิสูจน์ยืนยัน ขีดความสามารถ ของทีมวิศวกรไทย โรงงานอุตสาหกรรม และซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่เกี่ยวเนื่อง ในประเทศไทย  

3. ช่วยพิสูจน์ยืนยัน ขีดความสามารถ ของทีมวิศวกรไทย ในการส่งกำลังและซ่อมบำรุง ระบบจรวด DTI-1G ทั้งรถฐานยิงจรวด และ ลูกจรวดนำวิถี ให้พร้อมใช้งานได้โดยต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี 

4. ช่วยพิสูจน์ยืนยัน ประสิทธิภาพ ระบบการฝึกศึกษา ในหลักสูตรการใช้งานและหลักสูตรการปรนนิบัติบำรุงระบบจรวด DTI-1G ที่ได้ส่งมอบให้แก่ กองทัพบก ทั้งการอบรมในห้องเรียน การฝึกภาคสนาม การศึกษาโดยใช้ระบบ Computer based Training และการยิงทดสอบด้วยลูกจรวดจริง 

5. ช่วยพิสูจน์ยืนยัน คุณภาพ และ ระดับความน่าเชื่อถือ และ ความไว้วางใจได้ ในตัวระบบจรวด DTI-1G ที่มีอายุการเก็บรักษามาเป็นเวลา 10 ปี แต่ยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการใช้งาน เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานยุทโธปกรณ์ 

6. ช่วยพิสูจน์ยืนยัน ขีดความสามารถของกำลังพล กองทัพบก ว่ามีความรู้ความชำนาญในการใช้งานระบบจรวดหลายลำกล้องนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ DTI-1G ผ่านการฝึกทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการยิงจรวดจริง จึงมีระดับความพร้อมเมื่อต้องปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศในอนาคต   


สำหรับการใช้งานในอนาคต หากกองทัพบกนำจรวดหลายลำกล้องนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ DTI-1G เข้าประจำการ จะสามารถใช้ในการป้องกันและโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีฐานทัพ, รถถัง, หรือสถานที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ จรวดรุ่นนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางทหารของกองทัพไทย ทำให้สามารถป้องกันประเทศและทำลายศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จรวดหลายลำกล้องนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ DTI-1G เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีด้านการทหารที่ถูกพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ Defence Technology Institute ซึ่งประกอบด้วยโครงการพัฒนาอาวุธหลายรูปแบบ เช่น รถยานเกราะล้อยาง 8x8 โดรน NARAI UAV, เครื่องฝึกจำลองการยุทธ์ Simulator, จรวดต่อสู้รถถัง และเทคโนโลยีจรวดแบบไร้ควัน เป็นต้น


ที่มาของข้อมูล สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ Defence Technology Institute

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง