รีเซต

จีดีพีปีนี้ไม่ติดลบ! สภาพัฒน์คาดโต 1.2% หลังเปิดประเทศดันท่องเที่ยว-บริโภคฟื้น ส่วนปี’65 ขยายตัว 3.5-4.5%

จีดีพีปีนี้ไม่ติดลบ! สภาพัฒน์คาดโต 1.2% หลังเปิดประเทศดันท่องเที่ยว-บริโภคฟื้น ส่วนปี’65 ขยายตัว 3.5-4.5%
ข่าวสด
15 พฤศจิกายน 2564 ( 15:26 )
47

จีดีพีปีนี้ไม่ติดลบ - นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% ตามกรอบการประมาณการครั้งก่อนที่ 0.7-1.2% เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการติดลบ 6.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% การส่งออก ขยายตัว 16.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคน มีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาท

 

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2564 ลดลง 0.3% จากที่ขยายตัว 7.6% ในไตรมาสที่ 2/2564 เป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน

 

ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับองค์ประกอบของการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2564 โดย 1. ปรับเพิ่มสมมติฐานรายรับ และจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาด 2. ปรับประมาณการการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนให้สอดคล้องกับการลดลงน้อยกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

 

โดยมีแรงสนับสนุนจาก 1. การผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของภาครัฐเพิ่มเติม 2. การดำเนินมาตรการของภาครัฐ เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนของการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการเยียวยาและการส่งเสริมกำลังซื้อของประชาชน 3. การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสสุดท้ายของปี ทำให้คาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 1.2% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.1% ในการประมาณการครั้งก่อน

 

ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ในช่วงคาดการณ์ 3.5-4.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วง 0.9-1.9% การส่งออก ขยายตัว 4.9% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 5 ล้านคน คิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวราว 4.4 แสนล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0% ของจีดีพี

 

อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ อาทิ จากความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มห้น้ำหนักมากที่สุด, ข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ, การขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยังมีความเสี่ยง และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกท่ามกลางแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

นายดนุชา กล่าวว่า หากการแพร่ระบาดในประเทศช่วงต่อไปอยู่ในวงจำกัด ก็จะประคับประคองให้เศรษฐกิจโตได้อย่างช้าๆ ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนฟื้นมาตรการช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็รับมาศึกษาอยู่ ปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ โครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ อยู่แล้ว จึงยังต้องหารือกันก่อน

 

ขณะที่การท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปีนี้ ก็มองว่า ต้องจัดกิจกรรม แต่ให้อยู่ภายใต้มาตรการควบคุม เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนสิ้นปีนี้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกชุดหนึ่ง จากพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันยังเหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง