Alibaba Group เปลี่ยนมือบริหารครั้งใหญ่ “เอ็ดดี้ อู๋” ขึ้นแท่นซีอีโอคนใหม่
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิง (Alibaba Group Holding) ยักษ์ใหญ่ด้านกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซของจีน สร้างความตกตะลึงอีกครั้งด้วยการประกาศเปลี่ยนตัวซีอีโอและประธานบริษัท นับเป็นการปรับเปลี่ยนผู้นำฝ่ายบริหารครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่ Alibaba Group ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรเมื่อเดือนมีนาคม ท่ามกลางความพยายามที่จะฟื้นฟูการเติบโตของบริษัทที่ชะลอตัวลงจากความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีนี้
นายเอ็ดดี้ หยงหมิง อู๋ (Eddie Yongming Wu) ประธานบริษัทของ Taobao และ Tmall Group แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ในเครือ Alibaba Group จะขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอของอาณาจักรธุรกิจเทคและอีคอมเมิร์ซรายนี้ แทนที่นายแดเนียล จาง (Daniel Zhang) ซึ่งควบตำแหน่งซีอีโอและประธานบริษัทของ Alibaba Group รวมถึงผู้บริหารของคลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป (Cloud Intelligence Group) หนึ่งในธุรกิจสาขาของ Alibaba ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ขณะที่นายโจเซฟ ไช่ (Joseph Tsai) รองประธานฝ่ายบริหารของ Alibaba Group ในขณะนี้ จะดำรงตำแหน่งประธานบริษัท โดยการประกาศแต่งตั้งผู้บริหารทั้งสองจะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 กันยายนนี้ ส่วนจางจะหันไปทุ่มเวลาให้กับ Cloud Intelligence Group ด้วยการเป็นซีอีโอและประธานบริษัทของธุรกิจนี้
การปรับเปลี่ยนผู้นำฝ่ายบริหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่ Alibaba Group ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้แบ่งธุรกิจออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1. Cloud Intelligence Group – บริการคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
2. Taobao Tmall Commerce Group – ธุรกิจแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์จีน
3. Local Services Group – ธุรกิจส่งอาหาร
4. Cainiao Smart Logistics – ธุรกิจด้านโลจิสติกส์
5. Global Digital Commerce Group – ธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ อาทิ AliExpress และ Lazada
6. Digital Media and Entertainment Group – ธุรกิจภาพยนตร์และสตรีมมิง
โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีฝ่ายบริหารและซีอีโอของตนเอง ซึ่งจางกล่าวในขณะนั้นว่าจะช่วยให้มีความสามารถในการระดมทุน รวมถึงการจดทะเบียนในตลาดได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ Alibaba ยังต้องการให้โครงสร้างบริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถของการแข่งขันในตลาดที่มีความท้าทายด้านกฎระเบียบใหม่ ๆ และแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลก
สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงก่อนหน้าที่บริษัทต้องเผชิญกับอุปสรรคใหม่ ๆ มากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปักกิ่งได้กําหนดข้อจํากัดที่เข้มงวดตั้งแต่ปี 2020 เพื่อปราบปรามภาคธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศ ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวทําให้ตัวเลขการเติบโตของรายได้อยู่ในหลักเดียวเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกัน
ที่มาของข้อมูล Channelnewsasia
ที่มาของรูปภาพ Reuters