ไขปม “ทรัมป์” ขู่ปลดประธานเฟด ทำได้ไหม

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงถ้วนหน้ามากกว่าร้อยละ 3 เมื่อวันจันทร์ ทั้งดัชนีดาวโจนส์ S&P 500 และแนสแด็ก ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์ (dollar index) ที่วัดความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2565
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยโพสต์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัว หาก “นายล่าช้า” (Mr. Too Late) ผู้แพ้รายใหญ่ ไม่รีบลดดอกเบี้ยตอนนี้
ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ต่อประธานเฟดแข็งกร้าวขึ้น เนื่องจากเฟดปฏิเสธปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมท่ามกลางความไม่แน่นอนจากมาตรการกำแพงภาษี ซึ่งปลุกความกังวลว่าผู้นำสหรัฐฯ อาจพยายามปลดประธานเฟดออกจากตำแหน่ง
มีคำถามว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจปลดประธานเฟดได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ชัดเจน เนื่องจากตามกฎหมายธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Act of 1913) ที่ก่อตั้งเฟด กำหนดให้สมาชิกคณะกรรมการบริหาร (Board of Governors) 7 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและได้รับการรับรองจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 14 ปี สามารถถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ด้วย “เหตุผลอันควร” ซึ่งที่ผ่านมาหมายถึงการประพฤติมิชอบ ไม่ใช่เกิดจากความเห็นต่างเชิงนโยบาย
แต่กฎหมายไม่ได้ระบุชัดถึงข้อจำกัดในการปลดประธานเฟดที่มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ซึ่งประธานเฟดเป็นหนึ่งในคณะผู้ว่าการ 7 คน
ปัจจุบัน ไม่ได้มีบรรทัดฐานทางกฎหมายโดยตรงในเรื่องนี้ เพราะไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดเคยพยายามปลดประธานเฟดพ้นตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคดีความที่อยู่ในศาลสูงสุด ซึ่งจะเทียบเคียงว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่
ในทางปฏิบัติ “พาวเวลล์” ควบเก้าอี้รวม 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ, สมาชิกคณะกรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่ดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากประธานาธิบดีทรัมป์ปลด “พาวเวลล์” พ้นตำแหน่งประธานเฟด เขาก็ยังเหลืออีก 2 ตำแหน่ง ในขณะที่ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจควบคุมโดยตรงว่าใครจะเป็นประธาน FOMC เพราะมาจากการเลือกตั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง