รีเซต

ความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีน ก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการอวกาศไทย

ความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีน ก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการอวกาศไทย
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2567 ( 10:55 )
30
ความร่วมมือด้านอวกาศไทย-จีน ก้าวสำคัญในการพัฒนาวงการอวกาศไทย

ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างประเทศจีนและไทยเริ่มมีความแนบแน่นมากขึ้น โดยมีเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านการสำรวจอวกาศ ผ่านโครงการสำคัญ 2 โครงการด้วยกัน ประกอบด้วย


โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS)


โครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) นับเป็นโครงการที่มีความท้าทายด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในการส่งนักบินอวกาศอวกาศไปก่อสร้างและอยู่อาศัยบนสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ระยะยาว จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย โดยรายรายละเอียดในข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมองค์ความรู้ 5 สาขา ประกอบด้วย


1. การสำรวจอวกาศดวงจันทร์และดาวอังคาร โดยในสาขานี้เน้นความร่วมมือด้านการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) เพื่อการสำรวจดวงจันทร์ระยะยาว รวมไปถึงดาวอังคารในอนาคต

2. การเฝ้าระวังและการบริหารจัดการจราจรทางอวกาศ เพื่อรองรับการขนส่งบนอวกาศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

3. การแบ่งปันและประยุกต์ใช้ข้อมูลที่มีประโยชน์ด้านการสำรวจอวกาศระยะไกล เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับการแบ่งปันไปพัฒนาความรู้ด้านอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

4. การพัฒนาขีดความสามารถและบุคลากรด้านอวกาศ เช่น การปล่อยจรวด การพัฒนาดาวเทียม อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และวิจัยรองรับภารกิจของดาวเทียม โครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน

5. ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ


ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับหลังจากเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เช่น การพัฒนาบุคคลากร ซึ่งการจัดตั้งสถานีวิจัยบนดวงจันทร์อาจนำไปสู่การศึกษาแหล่งทรัพยากรและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศใหม่ ๆ 


การพัฒนาระบบตรวจวัดอิเล็กทรอนิกส์ และประมวลผลสัญญาณดิจิทัล การออกแบบชิ้นส่วนเชิงกลของอวกาศยาน การจัดการความร้อนในภาวะวิกฤติ ระบบควบคุม และการคำนวนกลศาสตร์วงโคจรที่เหมาะสมที่สุด การประกอบ บูรณาการ และทดสอบ ความเข้ากันได้และคงทนของอุปกรณ์ และระบบย่อยภายใต้เงื่อนไขความเร่งขณะเปลี่ยนแปลงวงโคจรในระดับสูงถึง 9 g เป็นต้น ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากการส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ ภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีน


ปัจจุบันการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) มีองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และ รัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) เป็นผู้นำในการจัดตั้งโครงการ โดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมโครงการ เช่น ปากีสถาน เวเนซุเอลา แอฟริกาใต้ อาเซอร์ไบจาน เบลารุส อียิปต์ และประเทศไทยเป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว


โครงการยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 


หนึ่งในความร่วมมือโครงการสำคัญระหว่างประเทศไทยและจีน คือ การจัดส่งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และเครื่องมือศึกษาสภาพอากาศที่พัฒนาโดยคนไทยเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์พร้อมกับยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ของประเทศ ซึ่งมีกำหนดการลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 2026 


สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยมีชื่อเรียกว่า อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) นับเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์ที่ถูกคัดเลือกให้ติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 โครงสร้างของอุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนบนใช้ติดตั้งอุปกรณ์ศึกษาอนุภาคอิเล็กตรวจจากอวกาศ ส่วนกลางใช้สำหรับรับสัญญาณเชิงแสงและแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลส่งกลับมายังโลก และส่วนล่างติดตั้งอุปกรณ์ศึกษาไอออนที่สะท้อนจากผิวดวงจันทร์


ประโยชน์ที่ประไทยจะได้รับ เช่น นักวิทยาศาสตร์ไทยจะได้ทำการศึกษา พายุสุริยะ การระเบิดบนพื้นผิวดวงอาทิตย์และปลดปล่อยอนุภาคประจุไฟฟ้าออกมาจำนวนมหาศาล ซึ่งกระทบต่อการทำงานของระบบการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม โดยข้อมูลดังกล่าวอาจนำไปสู่การพัฒนาระบบแจ้งเตือนพายุสุริยะได้ในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก


ทั้งโครงการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (ILRS) และโครงการยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7 นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่ประเทศไทยดำเนินการร่วมกับนานาชาติ นอกจากความร่วมมือกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และรัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) ประเทศไทยยังมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา โดยมีการจัดทำโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ ร่วมกันเป็นระยะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา


ที่มาของข้อมูล Thaigov.go.th, NARITNARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และโครงการยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ 7

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง