ผลศึกษาชี้ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไฟเซอร์ ลดลงหลังฉีด 6 เดือน หนุนกระตุ้นเข็ม 3
วันนี้ (19 ส.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาจาก Pfizer-BioNTech แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech จะลดลงหลังผ่านไป 6 เดือน แต่ยืนยันว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 จะยังคงสูงอยู่
โดยผลการศึกษาพบว่า หลัง 6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลงไปราว 13% หลังจากที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม ทำให้มีข้อเสนอว่าควรต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในอนาคต
นี่เป็นผลการศึกษาประชาชนที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech ครบ 2 เข็ม กว่า 46,000 ตัวอย่าง ทั้งในสหรัฐฯ ตุรกี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และเยอรมนี เพื่อตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน โดยมีราว 2,306 คน ที่อายุระหว่า 12-15 ปี ส่วนที่เหลืออายุ 16 ปีขึ้นไป โดยมีค่ากลางอายุที่ 51 ปี แต่ผลการศึกษานี้ยังไม่ได้รับการทบทวนจากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด
"ประสิทธิภาพสูงที่สุดอยู่ที่ 96.2% ระหว่าง 7 วัน ถึง 2 เดือน หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และจะลดลงเหลือ 83.7% เมื่อผ่านไปราว 4 เดือน นั่นหมายความว่า จะลดลงเฉลี่ย 6% ในทุก ๆ 2 เดือน" ผู้ทำการศึกษาชิ้นนี้อธิบายไว้ในเอกสารที่เผยแพร่ใน medRxiv.org เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
การรู้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเช่นนี้ ทำให้ทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนย้ำว่า อนาคตควรมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไป
ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจากสาธารณสุขอังกฤษ พบว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน 2 ชนิดที่ใช้ในประเทศ คือ Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าที่น้อยลงในระยะเวลา 3 เดือน
อีกทั้ง ยังพบด้วยว่า ใครที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว ไม่ว่าจะทั้ง Pfizer-BioNTech หรือ AstraZeneca ก็อาจจะมีความเสี่ยง มากกว่าการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านั้น
ข้อมูลดังกล่าววิเคราะห์ขึ้น หลังจากที่มีกาตรวจเชื้อประชาชน ผ่านทางจมูกและลำคอราว 3 ล้านคนทั่วอังกฤษ โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด พบว่า 90 วัน หลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ของ Pfizer-BioNTech หรือ AstraZeneca พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดน้อยลง โดย Pfizer ลดลงจาก 85% เหลือ 75% ส่วน AstraZeneca ลดลงจาก 68% เหลือ 61%
อย่างไรก็ตาม ซาร่า วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านสถิติการแพทย์ และเป็นหัวหน้าการทำการสำรวจนี้ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า วัคซีน 2 เข็ม ของทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ ยังถือว่าทำงานได้ดีในการป้องกันไวรัสเดลต้า เพราะเมื่อประสิทธิภาพแรกเริ่มสูงมาก ๆ นั่นหมายความว่า มีระยะเวลาในการปกป้องตัวเองที่มากขึ้นด้วย
จากผลการศึกษาดังกล่าวนั้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายเจ้าเริ่มพิจารณาที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 หากจำเป็น อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกที่ตอนนี้กำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า รวมถึงประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น อิสราเอล ได้เริ่มต้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชน เพื่อปกป้องไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า และไวรัสกลายพันธุ์ตัวอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่วางแนวทางชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯ จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 กระตุ้นภูมิ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ชาวอเมริกันอย่างแพร่หลายในวันที่ 20 ก.ย.นี้ พร้อมทั้งอ้างข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีน 2 เข็มที่ฉีดไปก่อนนั้นประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าก็เพิ่มสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะเสนอฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับวัคซีนต้านโควิด 2 เข็มของ Moderna และ Pfizer-BioNTech มาแล้วอย่างน้อย 8 เดือน รัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าจะแจกจ่ายวัคซีนบูสเตอร์จำนวน 100 ล้านโดสไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 80,000 แห่ง
เบื้องต้นวัคซีนเข็ม 3 จะฉีดให้ชาวอเมริกัน ที่ได้รับวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม แต่เจ้าหน้าที่คาดว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนชนิดฉีดเข็มเดียวของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งผ่านการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเช่นกัน
เจ้าหน้าที่ ระบุด้วยว่า วัคซีนเข็มที่ 3 จะมุ่งเน้นไปที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราและคนสูงอายุก่อน ซึ่งก็เป็นกลุ่มแรกที่ฉีดวัคซีนในช่วงปลายปี 2020 และต้นปี 2021
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโควิดสูงที่สุดในโลก เฉลี่ยมีชาวอเมริกันเสียชีวิตรายวันประมาณ 500 ราย และติดเชื้อรายวันก็เพิ่มสูงขึ้นจากวันละไม่ถึง 10,000 รายในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เป็นมากกว่า 150,000 รายในเดือนสิงหาคม เนื่องจากการระบาดของไวรัสเดลต้า