พายุทอร์นาโดถี่ขึ้น เกิดจากภาวะโลกร้อนจริงหรือ?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ภาวะโลกร้อนทำให้พายุทอร์นาโดรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นข่าวการเกิดพายุที่ผิดปกติและรูปแบบพายุที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ล่าสุด National Geographic ได้นำเสนอประเด็นนี้ ขณะเดียวกัน “เบรต แอนเดอร์สัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศของ AccuWeather และ “แดน เดอโพดวิน” นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโส ก็ได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านรายการ Climate in the News ของ AccuWeather Network ดังนี้
“เบรต แอนเดอร์สัน” อธิบายว่า แม้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนพายุทอร์นาโดที่ถูกบันทึกจะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การใช้เรดาร์โดปเลอร์ที่ทันสมัย การติดตามพายุจากผู้เชี่ยวชาญ และการบันทึกภาพที่ง่ายขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามีพายุทอร์นาโดรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ที่น่าสนใจก็คือ จำนวนของพายุทอร์นาโดระดับรุนแรงยังคงใกล้เคียงเดิม เพราะพายุขนาดใหญ่มีโอกาสน้อยที่จะหลุดรอดการสังเกตไปได้
"ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ความร้อนเป็นแหล่งพลังงานของพายุ แต่ขณะเดียวกัน การที่ขั้วโลกเหนือร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างซีกโลกเหนือกับใต้ลดน้อยลง กระแสลมเจ็ตสตรีมอ่อนกำลังลง ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงเฉือนลมน้อยลง และแรงเฉือนลม (Wind Shear) เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดพายุทอร์นาโด"
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ พื้นที่ "Tornado Alley" หรือร่องพายุทอร์นาโดหลักในสหรัฐฯ ได้เคลื่อนจากเขต Great Plains ทางตอนกลางไปยังภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
แอนเดอร์สัน ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่อ่าวเม็กซิโกร้อนขึ้น ส่งผลให้มีความร้อนและพลังงานสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เป็นผลให้ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ เช่น แอละบามา มิสซิสซิปปี และเทนเนสซี เกิดพายุทอร์นาโดรุนแรงมากขึ้น แม้จะอยู่นอกฤดูกาลพายุแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ
แม้ว่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ จะมีประชากรที่เปราะบางมากกว่า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและระบบแจ้งเตือนที่แม่นยำขึ้น อัตราการเสียชีวิตจากพายุทอร์นาโดกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา