รีเซต

อาคม มอบนโยบายเร่งด่วน จี้บิ๊กคลังบริหารศก.ฟื้นโดยเร็ว

อาคม มอบนโยบายเร่งด่วน จี้บิ๊กคลังบริหารศก.ฟื้นโดยเร็ว
มติชน
15 ตุลาคม 2563 ( 08:14 )
99

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังครั้งแรก เพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า ได้รับทราบการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคบริการ และการท่องเที่ยว และคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม โดยต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก

 

นายอาคมกล่าวต่อว่า นโยบายการคลังที่จะเน้นการประสานนโยบายและมาตรการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างยั่งยืน (Fiscal Sustainability) ได้แก่ 1 ในระยะสั้นจะให้ความสำคัญกับการบริหารภาพรวมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ได้แก่ การขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือ การกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่าง ๆ 

 

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เช่น มาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังต้องประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป 2.การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด 3.มาตรการรองรับปัญหาการว่างงานอันเกิดจากวิกฤตโควิด-19 โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว

 

นายอาคมกล่าวว่า 4.การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล และ 5.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนโดยเฉพาะงบการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

 

นายอาคมกล่าวต่อว่า นโยบายที่ 2 สำหรับมาตรการระยะปานกลาง เป้าหมายคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce, Online-trade และ E-logistics เป็นต้น ประเด็นเร่งด่วน คือ การเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุนที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป

 

นายอาคมยังกล่าวในการประชุมอีกว่า มอบนโยบายในการทำงานแก่ผู้บริหาร 1.ต้องมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับรายจ่ายและงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตรฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส 2.จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศและกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3.จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย

 

นายอาคมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า มอบนโยบายให้เน้นเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจภาคเอกชน เช่น ซอฟต์โลน พิจารณาขยายเวลาการพักชำระหนี้ เป็นต้น เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ หาแนวทางรองรับการว่างงาน เนื่องจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้

 

นายอาคมกล่าวถึงกรณี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไม่ได้เป็นส่วนที่นำมาทดแทนงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว สำนักเศรษฐกิจการคลัง ได้รายงานขณะประชุมว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีเพียงพอ และมั่นใจได้ว่าฐานะของกระทรวงการคลังอยู่ระดับที่มั่นคง ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานต่างๆ ในกระทรวงการคลังแน่นอน ส่วนเตรียมเงินเพิ่มในอนาคตขณะนี้ยังไม่มีการหารือ เพราะเพิ่งเข้าสู่ปีงบประมาณ 2564 คงต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคต

 

นายอาคมกล่าวว่า การเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณพร้อมกับตรวจสอบการเบิกจ่ายของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อติดตามว่าแต่ละหน่วยงานใช้งบประมาณหรือใช้เงินกู้ไปเท่าไร ผลการเบิกจ่ายเป็นอย่างไร โครงการดำเนินงานคืบหน้าไปแค่ไหน เพราะในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้ จำเป็นจะต้องติดตามดูแลให้เป็นไปตามเป้าหมายและให้มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน พร้อมเร่งผลักดันการลงทุนจากต่างชาติ เช่น โครงการอีอีซี รวมถึงเสนอให้มีโครงการท่องเที่ยวเพื่อการลงทุน (Investmest tourism) เพื่อเป็นช่องทางดึงเม็ดเงินเข้าสู่ในประเทศมากขึ้น โดยใช้จุดแข็งไทยสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี จะทำให้นักลงทุนสนใจประเทศไทยมากขึ้น ในส่วนด้านว่างงานต้องการให้เกิดน้อยที่สุด โดยจะช่วยพยุงผู้ประกอบการให้มีความสามารถจ้างงานได้ต่อไป แต่หากไม่ไหวจริงๆ จนต้องเลิกจ้าง จะจัดให้มีการอบรมเสริมสร้างอาชีพ ให้มีรายได้เสริมระหว่างรอการจ้างงานต่อไป

 

นายอาคมกล่าวในตอนท้ายว่า การทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ อยากทำงานให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีมาตรฐาน มีความรอบคอบ อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเงินการคลัง รวมทั้งการประสานงานกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศได้

 

นายอาคมกล่าวเสริมว่า ส่วนกรณีภาคเอกชนเรียกร้องให้ขยายเวลาพักชำระหนี้ที่จะหมดลงในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ว่า ธปท.ยังดูแลและพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ให้รอผลการแถลงจากทาง ธปท. แต่ตามหลักการอาจไม่ขยายเวลาการพักชำระหนี้ตามที่เรียกร้อง เพราะจะกระทบให้เกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น แต่จะเข้าไปดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ และการช่วยธุรกิจให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันแทน

 

ตอบข้อซักถามที่ว่าเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงจะมีผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า แม้มีการชุมนุม แต่การทำงานของกระทรวงการคลังยังต้องทำต่อไป การเงินการคลังก็เหมือนธุรกิจที่หยุดพักไม่ได้

 

…………………

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง