สทนช.กำชับให้หลายจังหวัดวางแผนระบายน้ำในเขื่อนหลัก เตรียมพื้นที่รองรับฝน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ประชุมวิเคราะห์สถานการณ์ฝน พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และดินโคลนถล่ม โดยคาดการณ์จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 24-31 กรกฎาคมนี้ ( 2567)
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (24 ก.ค. 67) จะมีฝนตกมากในภาคเหนือและภาคตะวันออก และจะตกซ้ำไปอีก 3-4 วัน ซึ่งมีพื้นที่เฝ้าระวัง 2 จังหวัดหลัก คือ จันทบุรี และ จังหวัดตราด เนื่องจากยังมีน้ำท่วมขังจากอ่างเก็บน้ำเขาระกำหลากเข้าท่วมพื้นที่ในจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
และตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนจะตกเพิ่มมากขึ้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบน และอีสานตอนบน จังหวัดที่เฝ้าระวังฝนตกหนัก คือ พิษณุโลกและ เพชรบูรณ์ จะทำให้มีน้ำหลากลงมาเติมบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและป่าสัก สทนช. ได้ประเมินปริมาณน้ำล่วงหน้าที่จะผ่านจังหวัดนครสวรรค์ว่าจะมีอัตราเพิ่มขึ้น 1,200 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที และปริมาณส่วนนี้จะไหลลงมาเติมยังเขื่อนเจ้าพระยาส่งผลให้อัตราเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ทั้งนี้ สทนช.ประกาศแจ้งเตือนไปยัง 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้เตรียมรับมือเพราะจะระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มเป็น 700 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีผลกับพื้นที่ของคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยาและคลองโผงเผง จ.อ่างทอง
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม จะเร่งระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อรอรับมือฝนที่จะลงมาเติม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไม่น้อยกว่า 20 แห่งปริมาณน้ำเกินความจุในการกักเก็บ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความเสี่ยง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์การกักเก็บสูงสุด ทั้งนี้ได้วางแผนการระบายน้ำออกจากเขื่อนอุบลรัตน์ ป้องกัน ไม่ให้กระทบประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี