รีเซต

‘ดีอีเอส’ ชง ‘ครม.’ ขยายเวลาควบรวมแคท-ทีโอที ภายใน ก.ค.นี้

‘ดีอีเอส’ ชง ‘ครม.’ ขยายเวลาควบรวมแคท-ทีโอที ภายใน ก.ค.นี้
มติชน
29 มิถุนายน 2563 ( 03:36 )
101

‘ดีอีเอส’ ชง ‘ครม.’ ขยายเวลาควบรวมแคท-ทีโอที ภายใน ก.ค.นี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือเอ็นที ว่า จะนำเรื่องขอขยายระยะเวลาการควบรวมกิจการออกไปอีก 6 เดือน เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจาณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ จากเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เป็นแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2564 รวมถึงมีข้อสรุปเรื่องชื่อบริษัทที่ถูกต้อง ซึ่งมีการจดทะเบียนให้เป็นบริษัทมหาชน เนื่องจากบริษัทมหาชน ควบรวมกับบริษัทมหาชน การจดทะเบียนบริษัทใหม่ย่อมเป็นบริษัทมหาชน

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การขอขยายระยะเวลาครั้งนี้ จะมีการกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนว่าแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ส่วนตัวมีแนวคิดว่า การควบรวมกิจการไม่ใช่เพียงการนำทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน แต่อยากให้เอ็นทีเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีการแบ่งเป็นหน่วยธุรกิจ (บิสสิเนส ยูนิต) โดยส่วนงานใดที่มีความเกี่ยวข้องกันให้นำมารวมกัน ซึ่งมีข้อดีคือ ผู้บริหารจะถูกแยกออกไปเฉพาะทาง ทำให้บุคลากรของทั้ง 2 บริษัทมีเส้นทางการทำงานที่ดีขึ้น เกิดการปรับตัวและมีโอกาสเติบโตในสายงานที่ถนัด ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 บริษัทก็เข้าใจ และมองเป้าหมายในการควบรวมกิจกิจการไปในทิศทางเดียวกัน คือให้องค์กรเข้มแข็งและอยู่รอด

 

“หากผมยังอยู่จนถึงวันที่ทุกอย่างครบ ไม่ใช่เฉพาะควบรวมกิจการเสร็จสิ้น แต่กระทั่งเอ็นทีมี 5G พร้อมให้บริการ มีแนวคิดว่าจะเสนอให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้ 5G พิจารณาใช้งานของเอ็นทีก่อน ซึ่งจะเกิดผลดีกับบริษัทในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่นๆ ซึ่งจากนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องการลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้มีศักยภาพ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากแคทและทีโอที ไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จึงอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ในการให้บริการ 5G ร่วมกัน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น กระทรวงดีอีเอสได้เสนอทั้งหมด 9 โครงการ มูลค่า 15,000 ล้านบาท โดย 2 โครงการเพิ่มเติมจากชุดแรกที่เสนอไป 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสู่การเติบโตด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 70 ล้านบาท และโครงการบวร 4.0 เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับศาสนสถานในการเป็นศูนย์กลางพัฒนาความเท่าทันในการใช้ดิจิทัล มูลค่า 900 ล้านบาท

 

“คาดว่าจะมีอย่างน้อย 3 โครงการ ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤตจะเห็นได้ว่า ทุกคนมีการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จนเกิดเป็นความปกติรูปใหม่หรือนิวนอร์มอล ซึ่งโครงการต่างๆ ที่กระทรวงดีอีเอสเสนอมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศพัฒนาไปอีกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ให้ขยายตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้​ ผู้สื่อข่าว​รายงานว่า มีกระแสข่าวว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นที จะมี 2 คนคู่กัน คือ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท ซึ่งจะหมดวาระในเดือนสิงหาคม 2563 และนายมรกต เธียรมนตรี ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที โดยจะมีผลเดือนกรกฎาคมนี้ แทนนายพิพัฒน์ ขันธ์ทอง กรรมการบริษัททีโอที ที่ลาออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง