รีเซต

รพ.บุษราคัม เพิ่ม 1,500 เตียง รับเคส กทม. 'อนุทิน' เผยทำเต็มที่ ไม่ให้มีภาพผู้ป่วยอยู่บ้าน

รพ.บุษราคัม เพิ่ม 1,500 เตียง รับเคส กทม. 'อนุทิน' เผยทำเต็มที่ ไม่ให้มีภาพผู้ป่วยอยู่บ้าน
ข่าวสด
4 กรกฎาคม 2564 ( 15:03 )
54
รพ.บุษราคัม เพิ่ม 1,500 เตียง รับเคส กทม. 'อนุทิน' เผยทำเต็มที่ ไม่ให้มีภาพผู้ป่วยอยู่บ้าน

 

รพ.บุษราคัม เพิ่ม 1,500 เตียง รับเคส กทม. รวม 3,700 เตียง 'อนุทิน' เผยทำเต็มที่ ไม่ให้มีภาพผู้ป่วยอยู่บ้าน ฝากสำนักอนามัย กทม.เพิ่มจุดตรวจให้มากที่สุด

 

 

 

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการขยายศักยภาพ รพ.บุษราคัม อิมแพค ชาเลนเจอร์ ว่า สธ.มีความต้องการที่จะช่วยเหลือสถานการณ์เตียงของ กทม. แบ่งเบาผู้ป่วยจาก กทม. มาที่ รพ.บุษราคัม ให้มากที่สุด วันนี้จึงเดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมการขยายเตียงฮอลล์กลางอีก 1,500 เตียง จากที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 2 ฮอลล์ จำนวน 2,161 เตียง ทำให้เพิ่มศักยภาพรวมประมาณ 3,700 เตียง

 

 

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า รพ.บุษราคัมดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่เริ่มมีอาการแล้วไปจนถึงกลุ่มสีเหลือง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากใน รพ.ต่างๆ ออกมา เพื่อทำให้ รพ.มีเตียงมากขึ้น โดยจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรแพทย์เพื่อเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ และจะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเวชภัณฑ์ ยารักษาเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 5,000 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 3,000 ราย มีรักษาอยู่ประมาณ 2,000 ราย และยังมีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงอีก 12 เตียง

 

 

"วันนี้ กทม. และปริมณฑลจะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เตียง รวมกับที่เพิ่งเปิด รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 180 เตียง ซึ่งมีเตียงไอซียูประมาณ 58 เตียง และบริหารศักยภาพ รพ.สนามทุกแห่งให้ดีที่สุด ดังนั้น หากประชาชนที่มีปัญหาป่วยอยู่ที่บ้านก็ขอให้ติดต่อมาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อรอการประสานเรื่องเตียง ดังนั้น หาก กทม.ได้รับแจ้งผู้ป่วยจาก 1669 ก็ไม่ต้องปฏิเสธ ขอให้ประสาน สธ. ที่เรามีเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉินเพื่อจัดรถไปรับผู้ป่วยมาที่นี่ได้ เราต้องพร้อมรับเต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาพผู้ป่วยเจ็บอยู่ที่บ้าน"

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการ ทางกรมการแพทย์ได้ออกแนวทางแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home isolation) เพื่อบริหารสถานการณ์ให้มีความคล่องตัวมากที่สุด ส่วนกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เราได้เพิ่มตามทรัพยากรให้เรามีอยู่อย่างเต็มที่ ส่วนของกทม.ต้องฝากสำนักอนามัย กทม.เพิ่มจุดตรวจให้มากที่สุด สธ.พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ขณะนี้จะพบว่าปัญหายังอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล ต้องเน้นให้จุดนี้มีการทำงานร่วมมือกันให้มากที่สุด สธ. พยายามทำทุกวิถีทาง เพราะ ในกทม. เราไปจัดการอะไรมากไม่ได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ เราก็อยู่ด้านหลังคอยรับภาระช่วยกัน อะไรที่ถ่ายมาให้เราได้เราก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ

 

 

 

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีการระบาดขยายวงกว้าง ดังนั้น การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ตามนโยบายของ รมว.สธ. ที่อยากให้ผู้ป่วยทุกประเภทได้รับการดูแล เราจึงขยายเตียงเพิ่งอีก 1,500 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เกินกำลังของกทม.ส่งมาให้เราช่วยดูแล แม้ว่าภารกิจของเราจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง แต่เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่ กทม. ส่งต่อให้เรา เราก็จะสนับสนุนในส่วนนี้

 

 

 

เมื่อถามว่าคนที่ทราบผลว่าติดโควิดสามารถวอล์กอินมารับเตียงได้หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ข้อตกลงของ ศปก.ศบค. ร่วมกับกทม. ที่แบ่งพื้นที่เป็น 6 กลุ่มเขต แต่ละเขตก็จะดูแลผู้ป่วยของตัวเอง บริหารสถานบริการทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อประสานเตียงระหว่างโซน แต่กรณีที่ประสานแล้วมีปัญหา หรือผู้ป่วยรอนานก็ให้ประสานมาที่ รพ.บุษราคัม ได้ในเบื้องต้น

 

 

"ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้วอล์กอินเข้ามา เพราะมีประเด็นเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วย เนื่องจากบางรายมีการใช้ชุดตรวจเร็ว หาแอนติเจน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐาน เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อีกรอบ อีกทั้งการเข้าสู่ระบบเตียงจะต้องมีขั้นตอนข้อมูลเตรียมพร้อมไว้ เมื่อมาถึงจะมีการคัดกรองอีกครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีจำกัด ดังนั้น การบริหารจัดการในแต่ละฮอลล์ก็ต่างกัน หากเราไม่มีระบบที่ชัดเจน และหากทุกคนเดินเข้ามาก็จะเกิดความวุ่นวาย"

 

 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กทม.ร่วมกับ รพ.ต่างๆ พยายามขยายเตียงอยู่ ดังนั้น การบริหารผ่านกลุ่มเขตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการมาก เพื่อมาอยู่เตียง รพ.บุษราคัม ก็จะต้องพิจารณารายบุคคล ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง