โควิด-19 : บีอาร์เอ็น ประกาศ “ระงับกิจกรรมทั้งหมด” เปิดทางภาครัฐจัดการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดในชายแดนภาคใต้
ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ออกแถลงการณ์หยุดกิจกรรมความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกลุ่มลงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติงานในช่วงที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาด
ในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. บีอาร์เอ็น ชี้ว่า ไม่ต้องการ "ซ้ำเติม" ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบ และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กัน
- 60 ปีสถาปนาบีอาร์เอ็น ปรับภาพลักษณ์ “องค์กรลับ” สู่ “องค์กรการเมือง”
- ยิ่งแก้ คะแนนประยุทธ์ยิ่งตก โพลล์ชี้คนพื้นที่ก้ำกึ่งจะเห็นความสงบใน 5 ปี
- บีอาร์เอ็น ร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ กับ “ก้าวสำคัญ” ของการแก้ปัญหาชายแดนใต้
"เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสมยิ่งขึ้นแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหน่วยงานสาธารณสุข และองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บีอาร์เอ็นจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อระงับกิจกรรมทั้งหมดของกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยตระหนักว่า ศัตรูสำคัญของมนุษยชาติในขณะนี้คือโรคโควิด-19 คำประกาศนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ที่ 3 เม.ย. 2563 และมีผลไปจนกว่าบีอาร์เอ็นจะไม่ถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย"
ปัจจุบัน บีอาร์เอ็น ซึ่งก่อตั้งมานาน 60 ปี คือ "คู่สนทนาหลัก" ของรัฐไทยในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นานกว่า 16 ปี คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 7 พันราย
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 มี.ค. องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายหยุดยิง หยุดใช้อาวุธ และเรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้ายุติปฏิบัติการทางทหารในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล และลดความตึงเครียดในสถานการณ์ปัจจุบัน
- หัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่เปิดรับบีอาร์เอ็นร่วมเจรจาสันติสุขรัฐบาลไทย
- หัวหน้าทีมมารา ปาตานี หมดหวังรัฐบาล หวังพึ่งพระบารมี ร. 10
- มารา ปาตานี แถลงขอเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย-ระงับการพูดคุยจนกว่าเลือกตั้งทั่วไปแล้วเสร็จ
แถลงการณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งร่วมลงนามโดย 4 องค์กร ได้แก่ กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ก่อความไม่สงบและทางการไทย ดังนี้
- ขอให้ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายรวมทั้งของบีอาร์เอ็น หยุดยิง หยุดการใช้ความรุนแรงทางอาวุธทุกรูปแบบทันทีและขจัดอุปสรรคในการช่วยชีวิตประชาชน
- ขอให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยุติวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้โดยการยุติปฏิบัติการทางทหารเพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับคู่ขัดแย้งในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19
"กลุ่มด้วยใจและองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามนี้ ขอเรียกร้องให้คู่ต่อสู้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและขจัดอุปสรรคทางราชการทั้งหมดที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่
"ความร่วมมือระหว่าง บีอาร์เอ็น และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าในครั้งนี้จะเป็นการแสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างสันติภาพให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน" แถลงการณ์ระบุ