รีเซต

AOT เร่งตรวจสอบ "ทางเลื่อนดอนเมือง" พบใช้งานมาแล้ว 27 ปี

AOT เร่งตรวจสอบ "ทางเลื่อนดอนเมือง" พบใช้งานมาแล้ว 27 ปี
TNN ช่อง16
29 มิถุนายน 2566 ( 18:53 )
99

นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง และนายชยาศิส บำรุงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายไฟฟ้าและเครื่องกล ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงกรณีผู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุบนปลายทางเลื่อน อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ขณะกำลังจะเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราชเพียงลำพัง  เบื้องต้นได้ส่งไป รักษาตัวที่โรงพยาบาลภูมิพล และส่งต่อไปที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์   จากการดูแลสภาพจิตใจของผู้โดยสาร พบว่า ผู้โดยสารค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ทางท่าอากาศยานดอนเมืองได้พูดคุยกับญาติและจัดผู้ประสานงานใกล้ชิดตลอดเวลา รวมถึงดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด



ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น อยู่ระหว่างสืบสวนหาข้อเท็จจริง สำหรับทางเลื่อนถูกติดตั้งใช้งานมาตั้งแต่ 2539 หรือ ประมาณ 27 ปีแล้ว ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ รวมถึงหวี ไม่มีการชำรุดเลยก่อนเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการสืบสวนให้ละเอียดก่อน เบื้องต้นครั้งล่าสุด คือ วันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา



ซึ่งตามปกติแล้วถ้ารองหวีหักติดกันสองซี่ จะมีการเปลี่ยนทันที แต่จากภาพที่ปรากฎในสื่อที่เห็นว่ามีร่องหวีหักหลายซี่ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด    จากตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พบล้อของกระเป๋าของผู้โดยสารติดอยู่ใต้ทางเลื่อนถึง 2 ล้อ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

 


สำหรับทางเลื่อน มีทั้งหมด 20 ตัว เป็นของใหม่ 6 ตัว และเป็นของเก่า 14 ตัว ขณะนี้ได้ยุติการใช้งานชั่วคราวแล้ว ซึ่งทางเลื่อนนี้ไม่ได้มีเซ็นเซอร์รุ่นใหม่เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเทคนิคในเรื่องอุปกรณ์เซฟตี้ จะเป็นการเช็คความตึงของโซ่ ถ้ามีอะไรไปขืน ตัวเซฟตี้จะตัดการทำงานทันที ต่างกับแบบใหม่ที่ตัวเซนเซอร์ใต้หวี หากมีอะไรมากระทบ เซนเซอร์ก็จะตัดทันที แต่ขณะเกิดเหตุเซ็นเซอร์ตัวนี้ ทำงาน แต่ทำงานช้า จึงต้องกลับไปตรวจสอบก่อนว่าเพราะอะไร



AOT สั่งสอบอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบิน


บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอุบัติเหตุบันไดเลื่อน หากพบเกิดจากความบกพร่อม หรือ ประมาท ของสนามบินลงโทษทันที พร้อมสั่งทีมวิศวกรตรวจสอบบันไดเลือนอย่างละเอียดทุกตัวเพื่อให้เกิดความชัดเจนและปลอดภัยว่าอุปกรณ์ตัวนี้เกิดความผิดพลาดจากอะไร  ทั้งนี้มีรายงานว่ากล้องวงจรปิดบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุมีสามตัว คือ จุดเริ่มต้น จุดกลาง และจุดสุดทางเลื่อน แต่ปรากฏว่ากล้องหมุนไปจับภาพมุมอื่น และหันมาอีกทีตอนที่ผู้โดยสารหญิงล้มลงไปแล้ว



เตือนภัยจุดเสี่ยงอันตรายจากบันไดเลื่อน


ด้าน นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ผู้เชี่ยวชาญด้าน บันไดเลื่อน และ ทางเลื่อน กล่าวว่า ปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางเลื่อน หรือ บันไดเลื่อน เมื่อมีอะไรเข้าไป มันก็จะหยุดทันที แต่หากว่าดูดแล้วทำให้คนถึงขั้นขาขาดได้ ถือว่า “ชอบกล” 

แต่ถ้าโดนดูดขาแบบปกติ ตรงบันไดเลื่อน หรือ ทางเลื่อน มันเป็นไปได้ยากมาก และเกิดขึ้นน้อยมาก ยกเว้น กรณีล่าสุด ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ที่ตกตรงช่องบันไดเลื่อน ถึงขั้นเสียชีวิต ในปี 2558 ซึ่งกรณีนั้น ช่างเขายอมรับว่า เขาใส่ฝาครอบและไม่ขันนอตให้แน่น เหมือนฝาท่อที่มันกระดกได้ 



“จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อาจจะเป็นที่จุดเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศจีน คือ บริเวณ floor plate บริเวณนั้น คือจุดเดียวที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุเท้าหล่นไปภายในได้ กรณีหากเกิดเหตุตรงทางเลื่อน บันไดเลื่อน กับ ทางเลื่อนก็จะหยุด แต่กรณีหากเกิดที่ บริเวณ floor plate บริเวณ Landing Zone มีโอกาสทำให้ขาขาดได้ เพราะมันจะไม่หยุดทำงาน เพราะตรงนั้นมันจะไม่มีกลไกในการหยุดทำงาน  ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบันไดเลื่อนรุ่นเก่า แตกต่างกับบันไดเลื่อน รุ่นใหม่ เมื่อ floor plate ถูกเปิด หรือ เผยอ หรือมีอะไรหล่นลงไปก็จะหยุดดังนั้น  สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องระมัดระวัง ผู้เชี่ยวชาญบันไดเลื่อน และทางเลื่อน แนะนำว่า 



1. งดใช้โทรศัพท์มือถือ และ มือจับราว  


2. ต้องมีสมาธิ มีสติ  ในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) ทาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะมีการแถลงข่าวในกรณีดังกล่าว ถึงมาตรการการดูแลความปลอดภัยในการใช้บันไดเลื่อน และ ทางเลื่อน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง